วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

โคกกระสุน เ แต่เพิ่มกระสุนท่านชาย

ตำรับยา

ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพ
         เมล็ดแก่ตากแห้งบดเป็นผง กินครั้งละประมาณ ๑ ช้อนชากินกับน้ำผึ้ง ๒ เวลา  เช้า-เย็น

ยาบำรุงไต แก้ปวดเมื่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง

         โคกกระสุนทั้งห้า ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ๓ แก้ว ต้มให้เหลือน้ำ ๑ แก้ว แล้วกรองเอาแต่น้ำยา ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

คัมภีร์อภัยสันตา

คัมภีร์อภัยสันตา
คัมภีร์อภัยสันตา เป็นโรคเกี่ยวกับตาทุกชนิด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน 21 ชนิดดังนี้:-

ต้อหมอก แบ่งออกเป็น 3 อย่าง
1). ตามัวเป็นฝ้าขาวในตาดำ  ตาบวม และปวด เป็นเดือน 5 – 6 – 7 – 8 เกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) โลหิต
2). ตามัวเป็นฝ้าขาวในตาดำ ตาบวม และปวด เป็นเดือน  9 – 10 – 11 – 12 เกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) กำเดา
3). ตามัวเป็นฝ้าขาวในตาดำ ตาบวม และปวด เป็นเดือน  1 – 2 – 3 – 4 เกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) เสมหะระคนกัน
ต้อเกิดที่ตาดำ งอกดุจฟองปลา ให้น้ำตาไหล เกิดเพื่อ (เพราะ) ริดสีดวง
ต้อแนะ เกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิต ตาแดงน้ำตาไหล ขนตาร่วง
ต้อฝี เกิดจากสันนิบาต ตามังมองแสงไฟไม่ได้
ตาฟางกลางคืน เกิดเพื่อ (เพราะ) กำเดา
ต้อวาโย เวลานอนให้เจ็บกระบอกตา ตาเป็นดุจเยื่อไม้
ต้อลิ้นสุนัข ตาเป็นแผ่นสีขาวในตาดำ
ต้อก้นหอย มองดูเป็นระลอก เป็นหลุมตรงกลางจุดที่เป็น
ต้อกระจก ต้อสลัก  ต้อกงเกวียน ต้อแก้วเป็นจุดที่หัวตาดำ
ต้อเนื้อ เป็นเยื่อยื่นขาวขึ้นที่หัวตา แล้วยื่นเข้าปิดตาดำ
ต้อแววนกยูง ตามันดังเยื่อลำไยขาว
ต้อหมอก เมื่อมองดูจะเห็นเป็นวงกลม เป็นเงาอยู่กลางตาดำ
ต้อลาย เมื่อมองดูจะเห็นเป็นแววอยู่กลางตาดำ
ต้อกระจก มองเห็นเป็นใยขาวผ่านตาดำ ให้ร้อนฝ่าเท้าเป็นประมาณ 15 วัน ใยขาวจะกลบตาดำมีสีเหลืองตรงจุดกลาง
ต้อหิน ตามัวมองเป็นก้อนขาวเป็นเงาๆ อยู่กลางตาดำ
ต้อกระจก 7 ประการ คือ
1). ต้อนิลกระจก
2). ต้อกระจกนกยูง
3). ต้อกระจกหลังเบี้ย
4). ต้อกระจกปรอท
5). ต้อกระจกหิ่งห้อย
6). ต้อกระจกแดง
7). ต้อกระจกขาว
       อาการ เกิดเป็นลมขึ้นฝ่าเท้า เมื่อยตั้งแต่เท้าจนถึงคอ เป็นอยู่ 2-3 ปี แล้วปวดศีรษะ ด้งจะแตก แล้วมีจุดขึ้นที่ตาดำ
ต้อมะเกลือ  ลูกตาดำเป็นจุดดังผิวมะกรูด เกิดเพื่อ (เพราะ) ดี เป็นตรีโทษ
ต้อไฟ ในลูกตาแดงดังผลมะกล่ำ ปวดเคืองมาก เป็นเอกโทษ เกิดเพราะนอนมาก
ต้อหูด ลูกตาดำเป็นจุดขาวแข็งดุจกระดูก และพองออกมา เกิดเพราะเสมหะ และลม
ต้อสีผึ้ง เป็นขาวๆ อยู่รอบๆ ตาดำ รักษาหายยาก
ต้อข้าวสาร เป็นจุดขาวแหลมนูน คล้ายเม็ดข้าวสารอยู่กลางตาดำ ปวดแสบ เคืองในลูกตามาก

คัมภีร์ฉันทศาสตร์

คัมภีร์ฉันทศาสตร์
ว่าด้วยประเภทของไข้ต่างๆ

ลักษณะของไข้ ซึ่งเมื่อเวลาจับและกำลังวัน จะบอกว่าไข้นั้นเป็นไข้ประเภทใด มี 3 สถาน คือ
1)  ไข้เอกโทษ    เริ่มจับเวลาย่ำรุ่งถึงบ่าย 2 โมง   แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง
2)  ไข้ทุวันโทษ   เริ่มจับเวลาย่ำรุ่ง      ถึง 2 ทุ่ม    แล้วไข้นั้นจะค่อยๆ คลายลง
3)  ไข้ตรีโทษ      เริ่มจับเวลาย่ำรุ่ง      ถึงตี 2       แล้วต่อถึงรุ่งเช้าแล้วไข้นั้นจะค่อยๆ สร่างคลายลง

ลักษณะของวันเวลาที่ไข้กำเริบ มี 4 สถาน คือ
1) กำเดา    กำเริบ     4 วัน
2) เสมหะ   กำเริบ     9 วัน
3) โลหิต     กำเริบ     7 วัน
4) ลม        กำเริบ   13 วัน

กำลังของธาตุกำเริบ มี 4 สถาน คือ
1) ตติยะชวร    คือ นับจากวันเริ่มไข้  ไปถึงวันที่    4    รวม  4 วัน
2) ตรุณชวร     คือ นับจากวันที่  5     ไปถึงวันที่    7   รวม  3 วัน
3) มัธยมชวร   คือ นับจากวันที่  8      ไปถึงวันที่  15   รวม  8 วัน
4) โบราณชวร  คือ นับจากวันที่ 16     ไปถึงวันที่  17   รวม  2 วัน

          ต่อไปจากนี้ ธาตุต่างๆ ได้พิการไปแล้วโดยไม่มีกำหนด วันเวลาว่านานเท่าไร ระยะนี้เราเรียกว่า จัตตุนันทชวร

ลักษณะไข้ กล่าวไว้ว่าแสดงโทษ ดังต่อไปนี้
   1) ไข้เอกโทษ มี 3 สถาน คือ

(1) กำเดาสมุฏฐาน มีอาการจิตใจฟุ้งซ่าน ปวดหัว คลุ้มคลั่ง จิตหวั่นไหว ตัวร้อนจัด นัยน์ตาเหลือง แต่ปัสสาวะแดง อาเจียนมีสีเหลือง กระหายน้ำ ปากขม น้ำลายแห้ง ผิวแห้งแตกระแหง ผิวหน้าแดง ตัวเหลือง กลางคืนนอนไม่หลับ เวลาจับ จิตใจมักเคลิ้มหลงใหล น้ำตาไหล
(2) เสมหะสมุฏฐาน มีอาการหนาวมาก? ขนลุกชันทั่วตัว จุกในอก แสยงขน กินอาหารไม่ได้ ปากหวาน ฝ่ามือฝ่าเท้าขาว อุจจาระปัสสาวะก็ขาวด้วย อาเจียน และเบื่อ เหม็นอาหาร จับสะท้านหนาว
(3) โลหิตสมุฏฐาน (ไข้เพื่อโลหิต) มีอาการตัวร้อนจัด ปวดหัว กระหายน้ำ เจ็บตามเนื้อตามตัว ปัสสาวะเหลือง ผิวตัวแดง ฟันแห้ง ลิ้นคางแข็ง ปากแห้งน้ำลายเหนียว

   2) ไข้ทุวันโทษ มี 4 สถาน คือ

(1) ทุวันโทษ ลม และกำเดา มีอาการจับหนาวสะท้าน ตัวร้อนจัด กระหายน้ำ เหงื่อตก จิตใจระส่ำระสาย วิงเวียน ปวดหัวมาก
(2) ทุวันโทษ กำเดา และเสมหะ มีอาการหนาวสะท้าน แสยงขน จุกแน่นในอก หายใจขัดไม่สะดวก เหงื่อตก ปวดหัว ตัวร้อน
(3) ทุวันโทษ ลม และเสมหะ มีอาการหนาว ต่อมาจะรู้สึกร้อน (ร้อนๆ หนาวๆ) วิงเวียน เหงื่อไหล ปวดหัว นัยน์ตามัว ไม่ยอมกินอาหาร
(4) ทุวันโทษ กำเดา และโลหิต มีอาการนอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่พอหลับตามักจะเพ้อ ปวดหัวมาก จิตใจกระวนกระวาย ร้อนในกระหายน้ำ เบื่ออาหารไม่ยอมกิน

    3) ไข้ตรีโทษ มี 3 สถาน คือ

(1) ตรีโทษ เสมหะ กำเดา และลม มีอาการเจ็บตามข้อทั่วทั้งลำตัว ร้อนใน กระหายน้ำ จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อไหลโทรมทั่วตัว ง่วงนอนมาก
(2) ตรีโทษ กำเดา โลหิต และลม มีอาการปวดเมื่อยทั้งตัว ปวดหัวมากที่สุด เกิดวิงเวียนหนักหัว หนาวสะท้าน ไม่ใคร่รู้สึกตัว เหม็นเบื่ออาหาร เชื่อมซึม ง่วงนอน
(3) ตรีโทษ โลหิต เสมหะ และกำเดา มีอาการเร่าร้อน กระหายน้ำ กลางคืนหลับไม่สนิท จิตใจระส่ำระสาย เหงื่อตก หน้าเหลือง อาเจียนเป็นสีเหลืองมีโลหิต นัยน์ตาแดงจัด อนึ่ง ถ้าหากกำเดา เสมหะ โลหิต และลม 4 ประการนี้รวมกันให้โทษ 4 อย่าง คือ 1. ตัวแข็ง  2. หายใจขัด 3. ชักคางแข็ง 4. ลิ้นแข็ง ท่านเรียกโทษนี้ว่า มรณชวร หรือ ตรีทูต

กำเนิดไข้โดยรู้จากอาการของไข้นั้นๆ ที่แสดงให้เห็น เช่น
    1) ไข้สันนิบาต มี 3 ลักษณะ คือ

(1) ไข้ใดให้มีอาการตัวร้อน กระหายน้ำ หมดแรง ปากแตกระแหง นัยน์ตาแดง เจ็บไปทั่วตัว ชอบอยู่ในที่เย็นๆ
(2) ไข้ใดให้มีอาการตัวเย็น ชอบนอน เบื่ออาหาร เจ็บในคอ และลูกตา นัยน์ตาแดงจัด เจ็บหูทั้งซ้ายขวา เจ็บปวดตามร่างกาย กระหายน้ำ นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียนเป็นสีเหลือง
(3) ไข้ใดให้มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดหัว ปวดฟัน เจ็บในคอ ขัดหน้าอก กระหายน้ำมาก ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ปัสสาวะ และอุจจาระไม่ใคร่ออก

    2) ไข้สันนิบาตโลหิต 
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บที่สะดือแล้วลามขึ้นไปข้างบน วิงเวียน หน้ามืด เจ็บที่ท้ายทอย (กำด้น) ขึ้นไปถึงกระหม่อม สะบัดร้อนสะบัดหนาว ท้องอืดแน่น อาการเช่นนี้ท่านว่า เป็นสันนิบาตโลหิต

    3) ไข้สันนิบาตปะกัง 
คือ ไข้ใดให้เห็นมีเม็ดสีแดงผุดทั่วตัว มีอาการปวดหัวเมื่อตอนพระอาทิตย์ขึ้น
ไข้นี้เรียกว่า ไข้สันนิบาตปะกัง

    4) ไข้ตรีโทษ 
คือ ไข้ใดเมื่อพิศดูรูปร่างแล้ว มีลายตามตัว มีอาการเพ้อละเมอไป ผู้อื่นพูดด้วยไม่ได้ยินเสียง (หูอื้อ)
เรียกว่า ไข้ตรีโทษ

    5) ไข้ที่เกิดจากลม และเสมหะระคนกัน 
คือ ไข้ใดมีอาการหนาวสะท้าน เกียจคร้าน วิงเวียน ปวดหัว แสยงขน กระหายน้ำ เจ็บบริเวณเอว และท้องน้อย ในปากคอ และน้ำลายแห้ง นอนหลับมักลืมตา ทั้งนี้เพราะลม และเสมหะระคนกัน

    6) ไข้ที่เกิดจากเสมหะ และดีระคนกัน 
คือ ไข้ใดให้มีอาการหน้าแดง ผิวหน้าแห้ง กระหายน้ำ นอนไม่หลับ อาเจียน และปัสสาวะออกมามีสีเหลือง มักหมดสติไป ไข้นี้ท่านว่า เสมหะระคนกับดี

   7) ไข้ที่เกิดจากลม และกำเดา
คือ ไข้ใดให้มีอาการท้องขึ้น วิงเวียน สะอึก และอาเจียน ไข้นี้เป็นโทษลม และกำเดากระทำ

    8) ไข้ที่เกิดจากเลือดลม และน้ำเหลือง
คือ ไข้ใดที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนแต่น้ำลาย ไข้นี้ท่านว่า เลือดลมและน้ำเหลืองเข้ามาระคนกัน

   9) ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี 
คือ ไข้ใดให้มีอาการขมในปาก เจ็บหัว นอนมาก และเจ็บตามตัว โทษนี้เกิดจากเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ดี

  10) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา 
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัว อาเจียน นอนไม่หลับ กระหายน้ำ เจ็บในปากและในคอ หรือไข้ใดให้มีอาการเจ็บนัยน์ตา หัวร้อนดังกระไอควันไฟท่านว่ากำเดาให้โทษ

   11) ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต 
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บแต่ฝ่าเท้า และร้อนขึ้นไปทั่วตัวให้เร่งรักษาแต่ภายในกลางคืนนั้นอย่าให้ทันถึงรุ่งเช้าจะมีอันตราย มีอาการเจ็บมากที่หน้าผาก จิตใจกระวนกระวาย ท่านว่า เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต

  12) ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ 
คือ ไข้ใดให้มีอาการนอนฝัน เพ้อ น้ำลายมากในปาก มือ และเท้าเย็น อยากกินอาหารคาวหวาน มือและเท้ายกไม่ขึ้น สะบัดร้อนสะบัดหนาว โทษนี้เสมหะกระทำ

  13) ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม คือ
(1) ไข้ใดให้มีอาการ ขมในปาก อยากกินแต่ของแสลง เนื้อสั่นระริก และเสียวทั้งตัว เจ็บไปทั้งตัว จุกเสียด หรือ
(2) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน บิดขี้เกียจ ยอกเสียดในอก ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) วาตะ (ลม) หรือ
(3) ไข้ใดให้มีอาการหนาวสะท้าน อาเจียน แสยงขน ปากหวาน เจ็บไปทั่วตัว อยากนอนตลอดเวลา เบื่ออาหาร หรือ
(4) ไข้ใดให้มีอาการสะอึก อาเจียน และร้อนรุ่มกลุ้มใจ ท่านว่าเป็นไข้เพื่อ เพราะ) ลม
(5) ไข้ใดให้หมอดูร่างกายเศร้าดำไม่มีราศี ไอ กระหายน้ำ ฝาดปาก เจ็บอก หายใจขัด เพราะในท้องมีก้อนๆ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ลม

14) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา 
คือ ไข้ใดให้มีอาการเจ็บตามผิวหนัง ปัสสาวะเหลือง ร้อนใน กระวนกระวาย ชอบอยู่ที่เย็น นัยน์ตาแดง ลงท้อง กระหายน้ำ ทั้งนี้เป็นไข้เพื่อ เพราะ) กำเดา

   15) ไข้สำประชวร 
คือ ผู้ใดมีอาการเป็นไข้เรื้อรังมาเป็นเวลานานๆ รักษาไม่หาย ทำให้ร่างกายซูบผอมไม่มีแรง เบื่ออาหาร ไข้นี้จะเนื่องมาจากไข้เพื่อเสมหะ โลหิต ดี กำเดาหรือลม เป็นเหตุก็ตาม ให้แพทย์สังเกตดูที่นัยน์ตาของคนไข้จะรู้ได้ว่า คนไข้นั้นเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) อะไร ซึ่งมี 5 ประการด้วยกัน คือ

          (1) ไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา มีอาการปวดหัวตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว ไม่มีน้ำตา ปากคอแห้งกระหายน้ำนัยน์ตาแดงดังโลหิต
          (2) ไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต มีอาการปวดหัวตัวร้อน หน้าแดงนัยน์ตาแดง มีน้ำตาคลอ
นัยน์ตาแดงดังโลหิต
          (3) ไข้เพื่อ (เพราะ) เสมหะ มีอาการหนาว แสยงขน ขนลุกทั้งตัว หรือไม่ร้อนมาก
นัยน์ตาเหลืองดังขมิ้น
          (4) ไข้เพื่อ (เพราะ) ดี มีอาการตัวร้อน เพ้อคลั่ง ปวดหัว กระหายน้ำ ขอบนัยน์ตาสีเขียวเป็นแว่น
          (5) ไข้เพื่อ (เพราะ) ลม มีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตัวไม่ร้อน นัยน์ตาขุ่นคล้ำ และมัว อีกพวกหนึ่งนัยน์ตาไม่สู้แดงนัก (แดงเรื่อๆ) ถ้าเป็นกับชาย เกิดจากเส้นอัมพฤกษ์ ถ้าเป็นกับหญิง เกิดจากเส้นปัตคาด

  16) ไข้เพื่อลม และเสมหะ 
คือ ไข้ใดให้มีอาการปวดหัวมาก ไอ หาวนอน บิดตัวเกียจคร้าน เหงื่อไหล ทั้งนี้เป็นเพราะถูกลมเสมหะมาทับระคน

   17) ไข้เพื่อเสมหะ และกำเดา 
คือ ไข้ใดให้มีการซึมมัว กระหายน้ำ ขมปาก ท้องร้อง เจ็บตามตัว เหงื่อไหล ไอ ตัวไม่ร้อน เป็นปกติ ทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะ และกำเดา

  18) ไข้ตรีโทษ 
คือ มีโทษ 3 ประการ คือ เจ็บไปทั่วตัว นอนไม่หลับ และเบื่ออาหาร อาการ 3 ประการนี้ จะเกิดขึ้นในขณะอยู่ในทุวันโทษ ซึ่งแพทย์พอรักษาได้

  19) ไข้สันนิบาต
คือ ไข้ใดให้มีอาการไอแห้ง หอบมีเสมหะในคอ เล็บมือ และเล็บเท้าเขียว นัยน์ตาสีเขียว มีกลิ่นตัวสาบดังกลิ่นสุนัข,แพะ,แร้ง หรือนกกา โกรธง่าย เรียกว่าไข้สันนิบาต มักถึงที่ตาย

20) ลักษณะไข้แห่งปถวีธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 1-2 วัน ให้มีอาการเชื่อมมัว หมดสติ ไม่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายยาก็ไม่ออก ไม่กินอาหาร แต่อาเจียนออกมาก ถ้าอาการเหล่านี้ยืนนานไปถึง 10-11 วัน ท่านว่าตายเพราะเป็นลักษณะแห่งปถวีธาตุ

21) ลักษณะไข้แห่งวาโยธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน ให้มีอาการนอนสะดุ้ง หมดสติ เพ้อ เรอ อาเจียนแต่น้ำลาย มือ และเท้าเย็น โรคนี้ตาย 2 ส่วน ไม่ตาย 1 ส่วน ทั้งนี้เป็นโทษแห่งวาโยธาตุ ถ้าแก้มือเท้าเย็นให้ร้อนไม่ได้ อาการจะทรงเรื้อรังไปถึง 9 -10 วัน จะตายอย่างแน่แท้

22) ลักษณะไข้แห่งอาโปธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 4 วัน มีอาการท้องเดิน บางทีมีเสมหะ และโลหิตตามช่องทวารทั้งหนักและเบา บางทีอาเจียนเป็นโลหิต ไข้ใดเป็นดังนี้ เป็นเพราะอาโปธาตุบันดาลให้เป็นไป ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอยู่เป็นเวลา 8-9 วัน ต้องตายแน่นอน

23) ลักษณะไข้แห่งเตโชธาตุ 
คือ ไข้ใดเมื่อล้มไข้ลงได้ 3-4 วัน มีอาการร้อนไปทั้งตัว ทั้งภายนอก ภายในทุรนทุรายหัวใจสับสน ต้องใช้น้ำเช็ดตัวไว้เสมอ ลิ้นแห้ง คอแห้ง แห้งในอก กระหายน้ำ คลั่งไคล้ หมดสติไปให้เจ็บโน่นเจ็บนี่ทั่วร่างกาย คล้ายคนมีมารยา อยากกินของแสลง ดุจผีปอบ (ฉะมบปอบ) อยู่ภายใน โทษนี้คือโทษแห่งเตโชธาตุ ถ้าแก้ความร้อนไม่ตก และอาการยืนอยู่ต่อไป 7-8 วันต้องตายแน่

ต่อไปนี้ขอให้แพทย์ให้จำไว้ให้แม่นยำว่า ไข้เอกโทษ ทุวันโทษ และไข้ตรีโทษนั้น ถ้ามีการทับสลับกัน ทำให้มีอาการผิดแปลกไปดังต่อไปนี้

ลมเป็นเอกโทษ มักจะเกิดกับบุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไปในฤดูวัสสานฤดู เริ่มแต่หัวค่ำให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปากคอ เพดานแห้ง เจ็บไปทุกเส้นเอ็นทั่วตัว (ปวดเมื่อย) เป็นพรรดึก นอนไม่หลับ จับแต่หัวค่ำ และจะค่อยๆ คลายลงภายใน 4 นาที เรียกว่า เอกโทษลม
ถ้าไข้นั้นไม่คลายไปจนถึงเที่ยงคืนก็จะเข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นเสมหะกับลม และถ้าไข้นั้นยังไม่คลาย จับต่อไปถึงย่ำรุ่งตลอดไปถึงเที่ยงคืน เรียกว่า ตรีโทษประชุมกันเป็นสันนิบาต
ท่านว่า ถ้าลมเป็นเอกโทษ พ้น 7 วัน จึงวางยา ถ้าไม่ถึง 7 วัน ไข้นั้นกำเริบ คือ ไข้ยังจับต่อไปอีก ให้แพทย์รีบวางยา

ดีเป็นเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี ไข้จะเกิดในคิมหันตฤดู เริ่มแต่เที่ยงวัน มีอาการตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ กระวนกระวายใจ มึนซึม ในคอมีเสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะมีสีเหลืองปนแดง เหงื่อไหล เรียกว่าเอกโทษดี จับแต่เที่ยงไป 5 นาทีก็จะคลาย
ถ้าดีเป็นเอกโทษจับไข้ยังไม่คลาย จับไปจนถึงค่ำก็เข้าเป็นทุวันโทษ เกิดเป็นลมระคนดี
ถ้าไข้นั้นยังไม่คลายลงจนถึงเที่ยงคืน และจับต่อไปจนรุ่งเช้า ท่านว่าเป็นสันนิบาตตรีโทษ ให้รีบวางยา           ท่านว่าถ้าจับเอกโทษดี เริ่มจับแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป 4-5 นาที ก็จะสร่างคลาย กำหนด 9 วัน จึงวางยา

เสมหะเอกโทษ มักเกิดกับบุคคลอายุ 15 ปี ในเหมันตฤดูเริ่มจับแต่เช้าตรู่ตอนไก่ขัน มีอาการร้อนข้างนอกกาย แต่ภายในหนาว แสยงขน ไอ คอตีบตื้น กินอาหารไม่ลง เชื่อมมัว ปากหวาน นัยน์ตาขาว อุจจาระปัสสาวะขาว ไข้จับแต่เช้าตรู่ไป 5 นาที เรียกว่า เสมหะเอกโทษ
ถ้าไข้ยังไม่สร่างคลายไปจนถึงเที่ยงวันจนถึงบ่าย 5 นาที ดีจะมาระคนกับเสมหะ และถ้าไข้ยังจับต่อไปอีกจนถึงเย็นค่ำ และต่อไป เป็นสันนิบาตตรีโทษ

ทุวันโทษเสมหะ และดี เกิดกับบุคคลอายุอยู่ในปฐมวัย คือ ภายใน 16 ปี เป็นไข้ในคิมหันตฤดู มีเสมหะเป็นต้นไข้ และดีเข้ามาระคนเป็น 2 สถาน ทำให้มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว ในปาก และคอเป็นเมือก กระหายน้ำ หอบ ไอ เชื่อมมัว ตัวหนัก ไข้เริ่มจับแต่เช้าตรู่ จะสร่างคลายตอนบ่ายโมง 3 นาที
ทุวันโทษดี และลม เกิดกับบุคคลอายุ 30-40 ปี วสันตฤดู มีดีเป็นต้นไข้ เริ่มจับตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึง เย็นค่ำจึงจะสร่างคลาย มีอาการเชื่อมมัว ปวดเมื่อยตามข้อ หาว อาเจียน ปาก และคอแห้ง ขนลุกขนพอง มักสะดุ้ง ตัวร้อน ทั้งนี้เป็นเพราะลมเข้าระคนเป็น ทุวันโทษ
ทุวันโทษลม และเสมหะ เกิดกับบุคคลอายุ 40-50 ปี เหมันตฤดู มีอาการหนักตัว ไอ ปวดหัว เมื่อยตามมือและเท้า มีลมเป็นต้นไข้ เริ่มจับแต่ตอนค่ำไปจนถึงรุ่งเช้าจะสร่างคลายลง มีอาการร้อนรนภายใน เหงื่อไม่มี ข้างนอกเย็น ทั้งนี้เป็นเพราะลม และเสมหะระคนกันเป็น ทุวันโทษ
ได้กล่าวถึงเอกโทษ และทุวันโทษแล้วตามลำดับมา ถ้าไข้นั้นยังมิสร่างคลายจับเรื่อยตลอดมา จะเป็นโทษ 3 ระคนกันเข้าเป็นโทษสันนิบาต
สันนิบาตจะเกิดระหว่างฤดู 3 หรือ ฤดู 6  ให้กำหนดในตอนเช้าเป็นต้นไข้กำเริบเรื่อยไปจนถึงเย็น และเที่ยงคืน ท่านว่าไข้นั้นตกถึงสันนิบาต มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว เคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บปวดตามข้อและกระดูกไปจนถึงสมอง เหงื่อออกมาก นัยน์ตาเหลือง บางทีแดง นัยน์ตาถลนมองดูสิ่งใดไม่ชัด ดูดังคนบ้า หูปวดและตึง คันเพดาน หอบ และหายใจสะอื้น ลิ้นปากเป็นเม็ดเน่าเหม็น ลิ้นบวมดำ เจ็บในอก หัวสั่น เวลาหลับตาแต่ใจไม่หลับ ลุกนั่งไม่ไหว พูดพึมพำ อุจจาระบางทีเขียว บางทีดำ กะปริดกะปรอย รอบๆ ข้อมือมีเส้นมีลายสีเขียว สีแดง ถ้าเส้นสีเขียวมีตามตัว ท้องขึ้นผะอืดผะอมมีลมในท้อง ท่านว่าธาตุไฟทั้ง 4 นั้นดับสิ้นจากกาย
ถ้าผู้ใดป่วยเข้าขั้นสันนิบาต มีอาการบวมที่ต้นหู จะตายใน 7 วัน ถ้าบวมที่นัยน์ตาจะตายภายใน 5 วัน ถ้าบวมที่ปากจะตายภายใน 7 วัน
จงจำไว้ว่า ถ้าทุวันโทษลม และเสมหะ อันใดอันหนึ่งจะกล้าหรือจะหย่อน เราจะรู้ได้จากอาการ คือ          -ถ้าลมกล้าจะมีอาการท้องผูกปวดเมื่อยตามข้อ ปวดหัว หมดแรง
-ถ้าเสมหะกล้า จะมีอาการเป็นหวัด ไอ ลุกนั่งไม่สะดวก หนักตัว
-ถ้าดีกล้า จะจับแต่เที่ยงไปถึงบ่าย และไข้จะค่อยคลายหายไป
-ถ้ามีอาการเชื่อมมัว อาเจียน คลื่นไส้ แสดงว่าดีมีกำลังกล้า
-ถ้ามีไข้แต่เช้ามืดถึง 3 โมง เชื่อมมัว ตึงตามตัว ตัวหนัก จะนอนไม่ใคร่หลับสนิท ไอ คือ เสมหะให้โทษกล้ากว่าดี ทุวันโทษดี และลม
-ถ้าลมกล้า จะมีอาการจับไข้แต่บ่าย 3 โมง มีอาการเชื่อมมัว หาวเป็นคราวๆ นอนไม่หลับ จึงถึงเวลาพลบค่ำจึงสร่างคลาย คนไข้จะหลับสนิท ถ้าดีมีกำลังกล้า จะเริ่มจับไข้แต่เที่ยงไป จะมีอาการซวนเซเมื่อลุกนั่งหรือยืน ตัวร้อน อาการนี้จะมีไปถึงบ่าย 5 นาทีจะสร่างคลาย

-สันนิบาต มี 3 สถาน คือ ดี เสมหะ และลม
-ทุวันโทษ ดี และเสมหะ มีลมมาแทรกทำให้แรงขึ้น คือ
ตั้งแต่บ่าย 5 นาทีถึงสามยาม มีอาการเชื่อมมัว มึนตึงตามตัว หลับหรือตื่นไม่รู้สึกตัว มักนอนสะดุ้ง หูตึง ทั้งนี้เพราะลมมีกำลังกล้ามันจะพัดไปตามหู ตา และคอ
-ถ้าเสมหะกล้า จะเริ่มจับแต่บ่าย 5 นาที ไปจนถึงพลบค่ำต่อไปจนถึงสว่าง 3 นาที เช้าอาการจะสร่างคลายลง อาการนั้นมีดังนี้คือ ลุกนั่งไม่สะดวก หอบบ่อยๆ คลื่นไส้ ถ่มน้ำลาย หนักตัว ตึงผิวหน้า ปากลิ้นเป็นเมือก

คัมภีร์มหาโชตรัต

คัมภีร์มหาโชตรัต


พระคัมภีร์มหาโชตรัต กล่าวถึงโรคโลหิตระดูสตรี ปกติโทษ และระดูทุจริตโทษ ซึ่งว่าด้วยปฐมสัตว์ มนุษย์อันเกิดมาเป็นรูปสตรีภาพ ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดา มีกายแตกต่างจากชาย 4 ประการ คือ

ถันประโยธร
จริตกิริยา
ที่ประเวณี
ต่อมโลหิตระดู
1.ที่เกิดโลหิตระดูของสตรี 5 ประการ (เรียกว่าโลหิตปกติ)
โลหิตระดูอันเกิดแก่หัวใจ เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น มีอาการให้คลั่งเพ้อ เจรจาด้วยผี ให้นอนสะดุ้ง หวาดผวา มักขึ้งโกรธไปต่างๆ ครั้นมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป
โลหิตระดูอันเกิดแต่ขั้วดี เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้มีอาการเป็นไข้ ให้คลั่งไคล้ ละเมอ เพ้อพก เจรจาด้วยผี ให้นอนสะดุ้งหวาดไป ครั้นมีระดูออกมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป
โลหิตระดูอันเกิดแต่ผิวเนื้อ เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้มีอาการนอน ร้อนผิวเนื้อผิวหนัง และแดงดังผลตำลึกสุก บางทีให้ผุดขึ้นทั้งตัวดังยอดหัด และฟกเป็นดังไข้รากสาด เป็นอยู่ 2 วัน 3 วัน ครั้นมีระดูมาแล้ว อาการนั้นก็หายไป
โลหิตระดูอันบังเกิดแต่เส้นเอ็น เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้เป็นดุจดังไข้จับ ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ครั้นพอมีระดูออกมาแล้ว อาการก็หายไป
โลหิตระดูอันเกิดแต่กระดูก เมื่อใกล้จะมีระดูมานั้น ให้เมื่อยขบไปทุกข์ดังจะขาดออกจากกัน ให้เจ็บเอวสันหลังมาก มักบิดเกียจคร้านบ่อยๆ ครั้นมีระดูออกมาแล้วก็หายไป
โลหิตปกติโทษทั้ง 5 ประการนี้ อธิบายไว้พอเป็นที่สังเกตของแพทย์ เพราะโลหิตปกติโทษ จะมีอยู่แต่เท่านั้นหามิได้ ย่อมมีอยู่ทั่วไปทั้งอาการ 32 ซึ่งชุ่มแช่อยู่ทั่วไปทั้งตัว ด้วยลม 6 จำพวก และลมทั้งหลายพัดให้เดินไปมาระหว่างเส้นเอ็น เนื้อหนัง และ อวัยวะทั้งหลายในร่างกาย เป็นธรรมดาของสัตว์โลก เตโชธาตุทั้ง 4 นั้น ทำหน้าที่ให้โลหิตในกายอบอุ่นแล้ว ถ้าเตโชธาตุกล้า หรือร้อนเกินปกติ โลหิตก็ร้อนทนไม่ได้ ก็จะผุดออกมานอกผิวหนัง แพทย์จึงสมมุติว่าเป็นเม็ดกำเดา รากสาดปานดำปานแดง และกาฬทั้งปวง นั่นคือเหตุของโลหิตนั่นเอง

จึงกล่าวได้ว่า ดี กำเดา ก็คือเตโช ส่วนโลหิตเป็นเจ้าสมุฏฐาน อันว่าโลหิตนั้นเป็นธรรมชาติของสตรี ผู้ใดเคยมีระดูมานั้น หากลมกองโตเคยกำเริบ ลมกองนั้นจะกำเริบทุกเดือนทุกครั้ง จึงเรียกว่า “ปกติโลหิต” หรือโลหิตประจำเดือน

แต่ถ้าถึงกำหนดระดูมีมา อาการแปลกไปอย่างอื่น และลมกองที่เคยพัดประจำเกิดไม่พัด ลมกองอื่นจึงเข้าพัดแทน อาการจึงแปลกไปจากทุกเดือนอย่างนี้เรียกว่า “โลหิตทุจริตโทษ”

2. หญิงมีระดูมาแล้วเกิดแห้งไป เพราะเหตุ 5 ประการ คือ
มีกามระคะจัด อำนาจแห่งไฟราคะเผาโลหิตให้แห้งไป
บริโภคอาหารเผ็ดร้อนเกินไป เป็นเหตุให้ระดูพิการได้
มีโทสะเป็นนิจ หรือทำงานหนักเกินไป เป็นเหตุให้โลหิตนั้นแห้งไป
มีโมหะอยู่เป็นนิจ หรือออกกำลังมากเกินไป เป็นเหตุให้โลหิตนั้นแห้งไป
เป็นด้วยกรรมพันธุ์ ติดต่อมาจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ของหญิงนั้น
หญิงจำพวกใด เมื่ออายุได้ 14–15 ปี ขึ้นไป และสิ้นกำหนดตานซางแล้ว ต่อมโลหิตระดูของหญิงนั้นก็บังเกิดมาตามประเวณีของสตรีภาพ ให้แพทย์พิจารณาดูว่า โลหิตนั้นเกิดจากที่ใด แล้วให้ปรุงยา ชื่อ ยาพรหมภักดิ์ เป็นยาประจุโลหิตร้ายเสียให้สิ้น แล้วจึงแต่งยาบำรุงไฟธาตุให้กิน เพื่อปรับธาตุทั้ง 4 ให้เสมอกัน แล้วจึงแต่งยาชื่อว่า ยากำลังราชสีห์ ยากำลังแสงพระอาทิตย์ บำรุงโลหิตให้บริบูรณ์แล้ว เมื่อใดสัตว์ที่จะมาปฏิสนธิก็จะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น

หญิงใดมีโลหิตพิการ บางจำพวกโลหิตนั้นเป็นก้อนกลมเท่าฟองไข่เป็ดอยู่ในท้องน้อย และหัวเหน่า บางพวกติดอยู่ในทรวงอก บางจำพวกกลมกลิ้งอยู่ในท้องน้อยเจ็บปวดดุจดังเป็นบิด บางทีให้ขึ้นจุกอยู่ยอดอก เจ็บปวดดังจะขาดใจตายทั้งกลางวัน และกลางคืน ถ้าถึง 7 วันตาย

3. ว่าด้วยริดสีดวงมหากาฬ 4 จำพวก
เกิดที่คอ
เกิดในอก
เกิดในทวาร
เกิดในลำไส้
ลักษณะอาการ ที่ทรวงอก และลำคอ เป็นเม็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อสุกแตกออกเป็นบุพโพโลหิตออกมา แล้วเลื่อนเข้าไปหากันบานดังดอกบุก เป็นบุพโพโลหิตไหล ไม่รู้ก็ว่าเป็นฝีที่ลำไส้ ลำคอ เกิดขึ้นขนาดเมล็ดข้าวโพดที่ทวารเบา ตั้งขึ้นเป็นกองเป็นหมู่ประมาณ 9-10 เม็ด ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อสุกแตกออกเป็นบุพโพโลหิตระคนกัน เลื่อนเข้าหากัน มีสัณฐานบานดังดอกบุก

4. ลักษณะโลหิตทุจริตโทษ 4 ประการ มี ดังนี้
โลหิตระดูร้าง เมื่อจะบังเกิดโลหิตระดูมิได้มาตามปกติ บางทีให้ดำ และมีกลิ่นเหม็นเน่า บางทีจางดุจน้ำชานหมาก บางทีใสดุจน้ำคาวปลา บางทีขาวดุจดังน้ำซาวข้าว กระทำให้เจ็บปวด เป็นไปต่างๆ ครั้นเป็นนาน เข้ามักกลายเป็น มานโลหิต
โลหิตคลอดบุตร เมื่อจะบังเกิด ทำให้โลหิตคั่งเข้าเดินไม่สะดวก แล้วตั้งขึ้นเป็นลิ่มเป็นก้อน ให้แดกขึ้นแดกลง บางทีให้คลั่ง ขบฟัน ตาเหลือกตาช้อน ขอบตาเขียว และริมฝีปากเขียว เล็บมือเล็บเท้าเขียว สมมุติว่าปีศาจเข้าสิง
โลหิตต้องพิฆาต อันตกต้นไม้ และถูกทุบถองโบยตี ถ้าเป็นดังกล่าวท่านว่า ไข้นั้นถึงพิฆาตเพราะโลหิตที่ถูกกระทำนั้นกระทบช้ำระคนกับโลหิตระดู เกิดแห้งกรังเข้าติดกระดูกสันหลังอยู่ จึงได้ชื่อว่า โลหิตแห้งกรัง เพราะอาศัยโลหิตพิการ
โลหิตเน่า อาศัยโลหิตระดูร้าง โลหิตคลอดบุตร โลหิตต้องพิฆาต และโลหิตตกหมกซ้ำเจือมาเน่าอยู่ จึงเรียกว่า โลหิตเน่า เป็นใหญ่กว่าลมทั้งหลาย เมื่อจะให้โทษ โลหิตเน่ามีพิษอันกล้าแล่นไปทุกขุมขน บางทีแล่นเข้าจับหัวใจ บางทีแล่นออกผิวเนื้อ ผุดเป็นวงดำ แดง เขียว ขาวก็มี บางทีผุดขึ้นดังยอดผด ทำพิษให้คันเป็นกำลังให้ทุรนทุรายยิ่งนัก
โลหิตตกหมกซ้ำ ก็อาศัยโลหิตเน่า เหตุเพราะแพทย์ใช้ยาประคบ ยาผาย ยาขับโลหิตไม่ถึงกำลัง หมายถึงให้ยาน้อยกว่ากำลังเลือด และโลหิตนั้นเกิดระส่ำระสายออกไม่หมดสิ้นเชิง จึงตกหมกช้ำอยู่ ได้ชื่อว่า โลหิตตกหมกช้ำ บางทีตกช้ำอยู่ในเส้นเอ็น หัวเหน่า เมื่อจะให้โทษก็คุมกันเข้า กระทำให้เป็นฝีมดลูก ฝีปอดคว่ำ ฝีเอ็น ฝีอัคนีสันต์ ฝีปลวก และมานโลหิต
5. โลหิตที่เกิดจากกองธาตุ มี 4 อย่าง
โลหิตเกิดแต่กองเตโชธาตุ ถ้าเกิดแต่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือไม่มีก็ดี เมื่อระดูจะมีมา นั้นกระทำให้ตึงไปทั่วตัวแล้วระดูจึงมีมา ให้ร้อนทางช่องคลอดดุจถูกพริก โลหิตที่ออกมานั้นเป็นฟองมีสีเหลืองน้ำฝางอันบุคคลเอาน้ำส้มมะนาวบีบลง สีนั้นก็เหลืองไป กระทำให้ร้อนผิวเนื้อมาก ให้อาเจียน ให้เหม็นอาหาร บริโภคอาหารไม่ได้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว
โลหิตอันบังเกิดแต่กองวาโยธาตุ ถ้าเกิดแก่สตรีใด ที่มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีสามีก็ดี เมื่อ มีระดูมานั้นทำให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้จุกให้เสียดเป็นกำลัง ให้ตัวร้อน ให้จับเป็นเวลา ให้คลื่นเหียนอาเจียนแต่ลมเปล่า ระดูมีมาไม่สะดวก มีสีดุจน้ำดอกคำอันจาง ให้ปวดเป็นกำลัง
โลหิตอันบังเกิดแต่กองอาโปธาตุ ถ้าเกิดแก่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีก็ดี เมื่อระดูจะมีมานั้นกระทำให้ลงไปวันละ 5-6 ครั้ง ระดูนั้นเดินออกมาเป็นเมือกเป็นมัน เหม็นคาวยิ่งนัก โลหิตนั้นใส บางทีเป็นเปลวดุจปะระเมหะ และไข่ขาว เดินไม่สะดวก ให้ปวดท้องมากบริโภคอาหารไม่ได้
โลหิตอันเกิดแก่กองปถวีธาตุ เกิดแก่สตรีผู้ใด มีสามีแล้ว หรือยังไม่มีสามีก็ดี เมื่อระดูจะมีมานั้นให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทุกกระดูก ระดูเดินหยดย้อยไม่ได้สะดวก บางทีให้เป็นมันเป็นเมือก บางทีเป็นปะระเมหะระคนออกมากับโลหิต เหนียวดุจยางมะตูม ทำให้ร้อนให้แสบ จุกเสียด ให้ท้องขึ้นเป็นกำลัง ระดูนั้นมีสีดำ แดง ขาว เหลือง ระคนกันออกมา มีกลิ่นคาวยิ่งนัก ให้ปวดในอุทรเป็นกำลัง
6.ว่าด้วยยาสำหรับสตรี
ยาบำรุงไฟธาตุ
ส่วนประกอบดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง เหง้าขิงแห้ง ผลผักชี ว่านน้ำ หัวแห้วหมู พิลังกาสา บอระเพ็ด ผิวมะกรูด ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละ 1 ส่วน เสมอภาค
วิธีใช้บดเป็นผง ละลายน้ำส้มซ่า รับประทานครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ 3 เวลา ก่อนอาหาร
สรรพคุณกินบำรุงไฟธาตุให้บริบูรณ์
ยาบำรุงโลหิต
ส่วนประกอบเบญจกูล หนักสิ่งละ 1 บาท โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 สิ่งละ 6 สลึง ผลจันทร์ ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู หนักสิ่งละ 1 สลึง เลือดแรด ดอกคำไทย สิ่งละ 3 บาท ฝางเสน 2 บาท เกสรบัวหลวง ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ ดอกจำปา ดอกกระดังงา กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชยเทศ จันทน์ทั้ง 2 ขมิ้นเครือ เอาส่วนเท่ากัน
วิธีใช้ต้มรับประทาน
สรรพคุณให้โลหิตงามดี
ยาแก้เลือดลมทำพิษหลังคลอดบุตร
ส่วนประกอบ ไพล เปลือกกุ่มทั้งสอง ลำพันแดง รากละหุ่งแดง ผลกระวาน กานพลู ข่า ขมิ้นอ้อย รากหญ้าพันงูแดง รากอังกาบ ผลสมอไทย ผลเสมอพิเภก หัวตะไคร้หอม ผลช้าพลู รากเจตมูลเพลิง ขิงแครง ขิงแห้ง เปลือกราชพฤกษ์ รากกระพังโหมทั้งสอง ดีปลี สะค้าน เปลือกโลด ว่านเปราะ เทียนทั้ง 5 โกฐหัวบัว โกฐกระดูก โกฐสอ โกฐเขมา โกฐพุงปลา เครื่องสมุนไพร เอาหนักสิ่งละ 1 บาท เครื่องเทศเอาหนัก สิ่งละ 2 สลึง
วิธีใช้ทำเป็นผง ปั้นแท่งไว้ ละลายด้วยน้ำสุกก็ได้ น้ำขิงก็ได้ น้ำข่าก็ได้
สรรพคุณแก้เลือดลมดีขึ้น ชัก อ้าปากไม่ออก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง และแก้ลมทั้งปวง ในปัสสาวะ
ยาปลูกธาตุ
ส่วนประกอบดอกดีปลี รากช้าพลู ผักแพวแดง เถาสะค้าน ขิงแห้ง ผลผักชีล้อม ว่านน้ำ หัวแห้วหมู ผลพิลังกาสา ผิวมะกรูด ยาทั้งนี้ใช้ส่วนเสมอภาค พริกไทยร่อนเท่ายาทั้งหลาย      
วิธีใช้ บดเป็นผงละลายน้ำผึ้งก็ได้ น้ำส้มซ่าก็ได้ สุราก็ได้ ให้กิน
สรรพคุณปลูกไฟธาตุให้โลหิตงาม ถ้าไม่มีระดู ให้ระดูมีมา ถ้าแม่ลูกอ่อนกิน ทำให้น้ำนมมาก ทั้งหาโทษมิได้เลย ดีนักแล เป็นยาอายุวัฒนะด้วย
ยาแก้ระดูขัด
ส่วนประกอบ หัวดองดึง 8 บาท รากเจตมูลเพลิง ดอกดีปลี เทียนขาว หนักสิ่งละ 1 บาท   
วิธีใช้ บดเป็นผงละลายสุรากิน  
สรรพคุณ แก้ขัดระดูปีหนึ่งหรือ 2 ปี โลหิตที่ตกค้างอยู่นั้นมักกลายเป็นมานโลหิต มานหิน มานน้ำ เป็นริดสีดวงต่างๆ ได้
ยาดองสำหรับอยู่ไฟไม่ได้
ส่วนประกอบ รากส้มกุ้ง หัวข้าวเย็น รากช้าพลู สมุลแว้ง ขมิ้นเครือ ผลจันทน์ ผลเอ็น สิ่งละ 1 สลึง มะแว้งทั้ง 2 สิ่งละ 1 สลึง จันทน์ทั้ง 2 สิ่งละ 1 สลึง ตรีผลา ตรีกฏุก สิ่งละ 2 สลึง เจตมูลเพลิง เทียนดำ เทียนขาว สิ่งละ 2 สลึง รากเสนียด 3 สลึง
วิธีทำ ดองสุราหมกข้าวเปลือกไว้ 3 วัน ให้กิน
สรรพคุณ สำหรับอยู่ไฟไม่ได้ อาเจียน บริโภคเผ็ดร้อนไม่ได้ แก้มุตกิต มุตฆาต ได้ด้วย
วิธีใช้การให้ยาตามตำรับเภสัช
ยาบำรุงโลหิต
ส่วนประกอบ ขิงแห้ง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง สะค้าน ช้าพลู ขมิ้นเครือ เถามวกแดง กำลังวัวเถลิง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 2 ส่วน  ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน โกฐหัวบัว โกฐเขมา โกฐสอ โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอดีงู เนื้อลูกสมอพิเภก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชยเทศ จันทน์แดง แก่นแสมสาร แสมทะเล กฤษณา หนักสิ่ง 1 ส่วน  ครั่ง หนัก 8 ส่วน  ฝาง ดอกคำไทย หนักสิ่งละ 10 ส่วน
สรรพคุณ บำรุงโลหิต
ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ ละลายน้ำสุกเป็นน้ำกระสายยา
ยาประสะไพล
ส่วนประกอบ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 8 ส่วน   การบูร หนัก 1 ส่วน  ไพล หนัก 81 ส่วน
สรรพคุณ แก้ระดูไม่ปกติ จุกเสียด ขับน้ำคาวปลา
ขนาดรับประทาน รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ ละลายน้ำสุก หรือน้ำสุรา เป็นน้ำกระสายยา

คัมภีร์อติสาร

คัมภีร์อติสาร
ในบทนี้กล่าวเกี่ยวกับสาเหตุ และการปฏิบัติตัวที่มีผลต่อการเกิดโรคฝี ลักษณะอาการของฝีที่จำแนกตามแหล่งที่เกิดฝี ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยแยกโรคฝีต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ ตามรายละเอียดของคัมภีร์ ดังนี้

         คัมภีร์อติสาร ว่าด้วยลักษณะอติสาร 2 จำพวก คือ ปัจจุบันกรรมอติสาร และโบราณกรรมอติสาร

1. ปัจจุบันกรรมอติสาร มี 6 จำพวก
1) อุทรวาตอติสาร
2) สุนทรวาตอติสาร
3) ปัสสยาวาตอติสาร
4) โกฏฐาสยาวาตอติสาร
5) กุจฉิสยาวาตอติสาร
6) อุตราวาตอติสาร

2. โบราณกรรมอติสาร มี 5 จำพวก
1) อมุธาตุอติสาร
2) ปฉัณณธาตุอติสาร
3) รัตตธาตุอติสาร
4) มุศกายธาตุอติสาร
5) กาฬธาตุอติสาร

1. ลักษณะอติสารอันเป็นปัจจุบันกรรม มีดังนี้

     1) อุทรวาตอติสาร
บังเกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) สะดือพอง โดยอำนาจผิงสะดือไม่ได้แต่ยังเยาว์ และลมกองนี้ติดตัวมาจนโต กระทำให้ท้องขึ้นไม่รู้วาย มักกลายเป็นกระษัย บางทีให้ลง ให้ปวดมวน ครั้นกินยาก็หายไป ครั้นถูกเย็นเข้าก็กลับเป็นมาอีก ให้ขบปวดท้องยิ่งนัก

ยาแก้อุทรวาตอติสาร
ส่วนประกอบ  สะค้าน  รากช้าพลู  รากเจตมูลเพลิง  ตรีกฏุก  ผิวมะกรูด  ใบคนทีสอ  มหาหิงคุ์  เอาเสมอภาค
วิธีใช้     บดเป็นผงทำแท่งไว้ ละลายน้ำร้อนรับประทาน
สรรพคุณ  แก้อุทรวาตอติสาร

     2) สุนทรวาตอติสาร
เกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา  พัดอยู่ในกระหม่อม เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา กระหม่อมเปิด ครั้นออกจากครรภ์มารดาแล้ว กระหม่อมก็ยังเปิด เมื่อได้ 3 เดือน กระหม่อมก็ยังไม่ปิด จึงบังเกิดโทษ คือ ลมอโธคมาวาตาหย่อน ลมอุทธังคมาวาตากำเริบพัดลงมา ทำให้ไส้พองท้องใหญ่ คือ ให้ลงกล่อนแล้วเป็นมูกเลือดปวดมวน ครั้นกินยาปิดก็ให้จุกขึ้นมา กินยาเปิดก็ให้ลงไป โรคดังนี้มักแปรเป็นมาน 5 ประการ คือ:-

(1) มานเลือด
(2) มานลม
(3) มานหิน
(4) มานน้ำเหลือง
(5) มานกระษัย

ยาแก้ชื่อยาเนาวทวาร
ส่วนประกอบ  ลูกจันทน์  เทียนสัตตบุษย์  ดีปลี  กะทือ  ไพล  หอม
ดินถนำ  กระเทียม  ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้  บดเป็นผง ใช้ดีสัตว์ละลายน้ำมะนาวเป็นกระสาย ทำเป็นแท่งไว้ แทรกพิมเสนละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำมะกรูดก็ได้ รับประทาน
สรรพคุณ แก้สุนทรวาตอติสาร

3) ปัสสยาวาตอติสาร
มีอาการบังเกิดแต่กองอชิน คือ สำแดงกระทำให้ลงไปดุจกินยารุ กินอาหารไม่ได้อยู่ท้อง ให้อาเจียนมีสีเขียว สีเหลือง สมมุติว่าป่วง 5
ประการ คือ ป่วงน้ำ ป่วงสุนัข ป่วงลม ป่วงหิน และป่วงวานร (ป่วงลิง)

ยาแก้ปัสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ หนังปลากระเบนเผา ผิวส้มโอ หนังแรดเผา ลูกมะคำดีควาย น้ำตาลกรวด ผิวไม้ไผ่ มะม่วงกะล่อนเผา
วิธีใช้ แทรกพิมเสน บดเป็นผงปั้นเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ  แก้ปัสยาวาตอติสาร

4) โกฏฐาสยาวาตอติสาร
เกิดตามลำไส้ ลมจำพวกนี้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย ถ้าพัดไม่ได้ตลอดเมื่อใดย่อมให้ลงไป บริโภคสิ่งใดก็เป็นสิ่งนั้นออกมา สมมุติว่าไส้ตรง ลำกองนี้พัดอุจจาระปัสสาวะให้ลงสู่คูถทวาร คูถทวารก็เปิด ลมทวารหากรู้กันเอง ถ้าไม่รู้กันตราบใด อาการก็แปรไปต่างๆ

ยาแก้โกฏฐาสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ  โกฐสอ โกฐเชียง โกฐกระดูก โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา
ลูกสมอเทศ ลูกสมอไทย พริกไทย ขิง ดีปลี กะทือ ไพล ว่านร่อนทอง ว่านนางคำ การบูร ลูกจันทน์ มหาหิงคุ์ ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้  บดเป็นผง ปั้นเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำดอกแคต้ม รับประทาน
สรรพคุณ  แก้โกฏฐาสยาวาตอติสาร

5) กุจฉิสยาวาตอติสาร
ลมกองนี้เกิดอยู่นอกไส้ พัดแต่เพียงคอลงไปทวารหนักทวารเบา เมื่อจะให้โทษ ประมวลกันเข้าเป็นก้อนในท้องแต่อยู่นอกไส้ กระทำให้ลงท้องเหม็นคาว แต่ไม่ปวดมวน อยู่ๆ ก็ไหลออกมาเอง สมมุติว่าทวารเปิด

ยาแก้กุจฉิสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ  โกฐสอ โกฐเขมา เทียนดำ เทียนขาว ลูกจันทน์ กานพลู กำยานทั้งสอง ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ทำเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ  แก้กุจฉิสยาวาตอติสาร วิเศษนัก

6) อุตราวาตอติสาร
เกิดแต่กองวาโย 16 จำพวก เป็นสาธารณะทั่วไปทุกแห่ง (แจ้งในคัมภีร์ชวดาร) ถ้ามีลงแต่สิ่งเดียว ให้พึงรู้ว่าอาการยังกระทำอยู่ ถ้าลงไปแพทย์วางยาไม่ถูกกลายไปให้ปวดมวนเป็นมูกเลือด สมมุติว่าเป็นบิด

ยาแก้อุตราวาตอติสาร
ส่วนประกอบ  จันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกฟักทอง ดอกบวบ เกสรบุนนาค เกสรสารภี สิ่งละ 1 ส่วน เกสรบัวหลวง 4 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอีอด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำดอกจันทน์แทรกกับพิเสนรับประทาน
สรรพคุณ  แก้อุตราวาตอติสาร วิเศษนัก     

ลักษณะอาการของโบราณกรรมอติสาร 5 อย่าง
1) อมุธาตุอติสาร

2) ปฉัณณธาตุอติสาร

3) รัตตธาตุอติสาร

4) มุศกายธาตุอติสาร

5) กาฬธาตุอติสาร

      1) อมุธาตุอติสาร 

ว่าในกองเตโชธาตุ อันชื่อว่า ปริณามัคคีหย่อน เผาอาหารไม่ย่อย ให้ผะอืดผะอมแดกขึ้นแดกลง ให้ลงนับเวลาไม่ได้ ครั้นสิ้นอาหารแล้ว ก็ให้ลงเป็นน้ำล้างเนื้อเหม็นคาว และให้กระหายน้ำ คอแห้ง อกแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง

ยาแก้ชื่อยาอมุธาตุอติสาร

ขนานที่ 1

ส่วนประกอบ  มหาหิงคุ์ รากหญ้านาง แก่นสน แก่นสัก กรักขี แก่นประดู่ ดอกคำไทย ดอกงิ้ว ครั่ง สีเสียดทั้ง 2 เอาเสมอภาค

วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ถ้าจะแก้ลงเลือด ละลายน้ำใบเสนียดต้ม รับประทาน

สรรพคุณ  แก้อมุอติสาร หายแล

ขนานที่ 2

ส่วนประกอบ  รากบัวหลวง รากมะกอก โกฐหัวบัว โกฐสอ จันทน์ทั้ง 2 เทียนดำ เกสรบัวหลวง เกสรสารภี เกสรบุนนาค กระดูกงูเหลือม เปลือกโลด ชะลูด รากสลอดน้ำ รากทองหลางหนาม ใบผักคราด ใบกระเพรา เมล็ดมะนาว เสมอภาค

วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ละลายน้ำรากบัวรับประทาน

สรรพคุณ  แก้กระหายน้ำ แก้อมุธาตุอติสาร ดีนักแล

     2) ปฉัณณธาตุอติสาร 

อาการกระทำให้ลงเป็นน้ำชานหมาก และน้ำแตงโม แล้วทำให้จุก ให้แดกเป็นกำลัง แน่นในลำคอ กินข้าวน้ำไม่ได้ ให้อาเจียนลมเปล่า

ยาแก้ปฉัณณธาตุอติสาร

ส่วนประกอบ  ใบกรด  ใบทับทิม  ใบเทียนย่อม สิ่งละ 1 ส่วน  ใบข่า 2
ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ  แก้ปฉัณณธาตุอติสาร หายดีแล

3)  รัตตธาตุอติสาร
เกิดแต่กองปถวีธาตุ มีเกศาเป็นต้น มัตถเกมัตถลุงคังเป็นที่สุดอาการ และประเภท มักให้ลงประมาณไม่ได้ ให้อุจจาระแดงดังโลหิตเน่า และมีเสมหะระคน บางทีให้เขียวดังใบไม้

ยาแก้รัตตธาตุอติสาร

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  ลูกจันทน์เทศ  ลูกเบญกานี  กฤษณา จันทน์ทั้ง 2 กำยาน  สีเสียดทั้ง 2  ชันตะเคียน  พริกไทย  ขิง  กำมะถัน เสมอภาค วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำครั่งก็ได้ รับประทาน
สรรพคุณ  แก้รัตตธาตุอติสาร และอติสารทั้งปวง วิเศษนัก

ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 ลูกเร่ว กระวาน กานพลู สิ่งละ 1 ส่วน ฝาง เปลือกปะโลง แกแล เปลือกหว้า ขมิ้นอ้อย ลูกทับทิมอ่อน สิ่งละ 2 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำใบชาต้ม รับประทาน
สรรพคุณ แก้รัตตธาตุอติสาร หายแล

      4) มุศกายธาตุอติสาร 

เกิดแต่กองอาโปธาตุ มีปิตตังเป็นต้น มุตตังเป็นที่สุด ลักษณะอาการ คือ บริโภคอาหารสำแดงธาตุ ให้ลงเป็นโลหิตเสมหะเน่าเหม็น ดังกลิ่นซากศพ ให้กุจฉิสยาวาต และโกฏฐาสยาวาตระคนกัน ให้ท้องขึ้นปะทะหน้าอก ให้แน่น ให้อาเจียนลมเปล่า ให้เหม็นอาหาร จะลุกนั่งไม่ได้ให้หน้ามืดยิ่งนัก

ยาแก้มุศกายธาตุอติสาร

ขนานที่ 1

ส่วนประกอบ  จันทน์หอม  รากมะอึก  สมอไทย  ผลกระดอม  บอระเพ็ด เสมอภาค

วิธีใช้  ต้ม 3 เอา 1 รับประทาน

สรรพคุณ  แก้มุศกายธาตุอติสาร วิเศษนัก

ขนานที่ 2

ส่วนประกอบ  จันทน์ทั้ง 2  กรุงเขมา  กระพังโหม  สมอไทย

เสมอภาค

วิธีใช้  ต้ม 3 เอา 1 แทรกขันทศกร รับประทาน

สรรพคุณ  แก้มุศกายธาตุอติสาร ดีนักแล

     5) กาฬธาตุอติสาร มี 5 อย่าง คือ

         (1) กาฬพิพิธ

(2) กาฬพิพัธ

(3) กาฬมูตร

(4) กาฬสูตร

(5) กาฬสิงคลี


          (1) กาฬพิพิธ
ขี้นภายในแต่ขั้วตับ ให้ลงไปเป็นเลือดสดกำหนดมันถูกยาก็ฟังยาไป 4 – 5 วัน อาการประเภทมันก็กลับกลายให้ลงไปเป็นเลือดสดเน่าหมดถ้วนก็ปวดมวนเพียงขาดใจ ตั้งแต่จะรากไปให้แน่นหน้าอุราร้อน สะอึกซ้อนเป็นชั้นๆ จะแก้กันก็ขัดสน สะอึกให้ก็เวียนวนแต่ลงร่ำกระหน่ำใน ครั้นแก้ที่ลงห่าง สะอึกดังเพียงขาดใจ ให้ร้อนทุรนไป กายก็ผุดเป็นแว่นวงเขียว แดง ไปทั่วกาย เมื่อจะตายก็กลับลงเป็นเลือดสด กำหนดปลงชีพนั้นในวันเดียว (เว้นตาย)

         (2) กาฬพิพัธ 
นั้นขึ้นในหัวใจให้ขุ่นมัว ขั้วตับก็ดุจเดียวกัน แต่อาการนั้นผิดกัน ลงดุจน้ำล้างเนื้อ เมื่อมันเน่า และเหม็นกลิ่น เหมือนซากศพที่ทรุดโทรมอยู่แรมคืน ให้หอบเป็นกำลัง สติยังไม่ยั่งยืน ผู้ใดจะได้คืนชีพนั้นอย่าสงกา (อย่าสงสัย)

         (3) กาฬมูตร
มันผุดกินอยู่ในตับให้ลงมาเป็นแต่โลหิต อุจจาระเน่า และดำไปเป็นก้อน เป็นลิ่มๆ ดุจเป็นดังถ่านไฟ กินปอดให้หอบ ให้กระหายน้ำเป็นกำลัง กินม้ามให้จับหลับเนตร พิศก็ดูดังปีศาจอันจริงจัง เข้าสิงอยู่ในคน เท้าเย็น และมือเย็น นั่งก้มหน้าไม่เงยยลหน้าคน พิการพิกลให้พ่นบ่นพะพึมไป อย่าจะกระทำ กระสือซ้ำเข้าคุมใจ โทษนี้ใช่อื่นไกล กำเนิดโรคมารยา ครั้นเมื่อจะดับสูญก็เพิ่มพูนด้วยวาตา พัดแผ่นเสมหะมาเข้าจุกแน่นในลำคอ จึงตัดอัสสาสะให้ขาดค้างเพียงลำคอ หายใจสะอื้นต่อจะตายหนอแล้วควรจำ  

         (4) กาฬสูตร 
นั้นให้ลง เพท (เวจ หรือถ่ายอุจจาระ) ที่ลงก็ดูดำดังครามอันเขียวคล้ำ ให้เหม็นกลิ่นดังดินปืน ให้ราก ให้อยากน้ำ จะยายำไม่ฝ่าฝืน กลืนยาก็ยาคืน สะท้านรากลำบากใจ เสโทอันซึมซ่าน พิการกายให้เย็นไป หยุดลงก็ขาดใจ อันโทษนั้นอย่าสงกา (อย่าสงสัย)

         (5) กาฬสิงคลี
กาฬ และกาฬนั้นย่อมปรากฏเกิดแก่ดีมา ให้ซึมรั่วล้นไหลไป อุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งเนื้อเนตรก็เหลืองใส เหลืองสิ้นตลอดในกระดูกดังขมิ้นทา ให้ร้อนทุรน ราก กระหาย หอบ เป็นนักหนา เชื่อมมึน และกิริยา ให้พะเพ้อละเมอไป โทษนี้ใน 3 วัน จักอาสัญอย่าสงสัย เพท (เวจ หรือถ่ายอุจจาระ) เมื่อจะขาดใจ ทะลึ่ง (เหยียดตัวพุ่งขึ้น) ไปจนสิ้นชนม์ (ตาย)

ยาแก้กาฬธาตุอติสาร

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  จันทน์ทั้ง 2 ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง สังกรณี เนระพูสี ลูกเบญกานี ลูกจันทน์ เอาเสมอภาค ลูกตะบูนเท่ายาทั้งหลาย
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นเป็นแท่งละลายน้ำลูกพลับจีน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้กาฬธาตุอติสาร วิเศษนัก
(หลักฐานที่อ้างอิง ตำรายาศิลาจารึก วัดพระเชตุพนฯ) 


ลักษณะอชินธาตุโรคอติสาร
         ว่าด้วยลักษณะอาการลงเป็นเพื่อ (เพราะ) สำแดง 2 ประการ คือ

 1) อชินธาตุ เป็นด้วยบริโภคอาหารอันไม่ควรแก่ธาตุ

   2) อชินโรค เป็นด้วยบริโภคยาอันไม่ควรแก่โรค

ประเภทอชิน  4 ประการ
1) เสมหะอชิน
2) ปิตตะอชิน
3) วาตะอชิน
4) สันนิปาตะอชิน
   1) เสมหะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุ มักกระทำให้ลงในเวลาเช้า มีอาการให้คอแห้ง อกแห้ง ให้สีอุจจาระขาว มีกลิ่นคาวระคนด้วยปะระเมหะ เป็นเปลว แล้วให้ปวดคูถทวารเป็นกำลัง ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 12 ราตรีไป ก็จะเข้าอมุธาตุอติสาร จัดเป็นปฐมอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในเสมหะอชิน

ยาแก้เสมหะอชิน

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  ตรีกฏุก  แห้วหมู  ผลมะตูมอ่อน  ผลตะบูน  ผลเบญกานี การบูร  ยางตะเคียน  น้ำประสานทอง สิ่งละ 1 ส่วน  เขาควายเผือกเผา 2 ส่วน  เจตมูลเพลิง 4 ส่วน  สะค้าน 8 ส่วน  รากช้าพลู 12 ส่วน
วิธีใช้  บดป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำมะแว้งแทรกพิมเสน
รับประทาน
สรรพคุณ  แก้เสมหะอชิน หายแล

ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ  โกฐสอ  โกฐกระดูก  โกฐหัวบัว  เทียนดำ  จันทน์ทั้ง 2 ว่านร่อนทอง  เนระพูสี  ครั่ง  ฝางเสน  ขมิ้นอ้อย  ขมิ้นชัน สิ่งละ 1 ส่วน กานพลู 4 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกกระท้อน แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้เสมหะอชิน และแก้อติสาร 11 จำพวก

2) ปิตตะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลากลางวัน มีอาการให้ร้อนในอก ให้สวิงสวาย ให้หิวโหยหาแรงไม่ได้ ให้ตัวร้อน ให้จับดุจไข้ราก สาด สันนิบาต ให้อุจจาระแดง ให้ร้อนตามลำซ่วงทวาร ขึ้นไปตลอดถึงทรวงอก มีกลิ่นดังปลาเน่า ให้ปากแห้ง คอแห้ง มักให้อาเจียน บริโภคอาหารไม่รู้รส ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 7 ราตรีไป จะเข้ารัตตธาตุอติสาร จัดเป็นทุติยะอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในปิตตะอชิน

ยาแก้ปิตตะอชิน

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  ผลจันทน์  ดอกจันทน์  คำฝอย  กำยาน  ผลพิลังกาสา ผลสารพัดพิษ  เปลือกปะโลง  แก่นขนุน  ไพล  กระชาย สิ่งละ 1 ส่วน เทียนดำ 2 ส่วน หมากดิบ 4 ส่วน กระเทียมกรอบ 17 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกสะเดาต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้ปิตตะอชิน หายแล

ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ  เปลือกสันพร้านางแอ  เถามวกทั้ง 2  ว่านมหาเมฆ
ผลกระดอม  น้ำประสานทอง  ดีปลี  สิ่งละ 1 ส่วน  เปลือกมะเดื่อชุมพร 2 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำรากเทียนต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้ปิตตะอชิน หายแล

 3) วาตะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลาพลบค่ำ มีอาการให้ท้องขึ้น และแน่นหน้าอกคับใจ ให้คลื่นเหียนอาเจียนแต่ลม ให้เท้าเย็นมือเย็น บริโภคอาหารไม่ได้ คอแห้งมาก ให้อุจจาระอันคล้ำ มีกลิ่นอันเปรี้ยว เหม็นยิ่งนัก ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 10 ราตรีไป ก็จะเข้าปฉัณณธาตุอติสาร จัดเป็นตติยะอติสารชวร

ยาแก้วาตะอชิน

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  รากคันทรง  รากตานหม่อน  รากพุมเลียงทั้ง 2
รากกระทุ่มขี้หมู  เปลือกไม้แดง  อบเชย  สักขี  ผลจันทน์  ตรีกฏุก
สิ่งละ 1 ส่วน  ขมิ้นอ้อย  สีเสียดทั้ง 2  สิ่งละ 2 ส่วน  กานพลู 4 ส่วน กระเทียมกรอบ 6 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายยา อันควรแก่โรค รับประทาน
สรรพคุณ  แก้วาตะอชิน หายแล

ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ  ผลยาง  ไส้หมากดิบ  ผลกระวาน  ใบกระวาน  จันทน์แดง  ผลผักชีทั้ง 2  เมล็ดผักกาด  รากมะกอก  สิ่งละ 1 ส่วน  ฝางเสน เปลือกมะขามขบ  เปลือกผลทับทิมอ่อน  สิ่งละ 1 ส่วน  ตรีกฏุก 3 ส่วน ใบจันทน์หอม 4 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำใบเทียนต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้วาตะอชิน หายแล

4) สันนิปาตะอชิน
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลากลางคืน มีอาการให้แน่นหน้าอก ให้หายใจสะอื้น ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้เท้าเย็นตัวร้อน ให้ลงไม่ สะดวก ให้สีอุจจาระ ดำ แดง ขาว เหลืองระคนกัน ถ้าแก้ไม่ถอยพ้น 29 วัน ก็จะเข้ามุศกายธาตุ อันระคนด้วยกาฬธาตุอติสารจะบังเกิด จัดเป็นจตุตถะอติสารชวร อันเนื่องอยู่ในปัญจมชวรนั้น ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในสันนิปาตะอชิน

ยาแก้สันนิปาตะอชิน

ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ  รากกล้วยตีบ  รากยอทั้งสอง  เปลือกโลด  รากชิงชี่ เปล้าทั้งสอง  โกฐทั้งห้า  เทียนทั้งห้า  จันทน์ทั้งสอง  เบญจกูล สิ่งละ 1 ส่วน  เปลือกฝิ่นต้น 19 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกกระทุ่มขี้หมู ต้มแทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้สันนิปาตะอชิน หายแล

ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ โกฐทั้งห้า  เทียนทั้งห้า  ผลจันทน์  ดอกจันทน์  กระวาน กานพลู  แฝกหอม  มะตูมอ่อน  ผลผักชี  เปลือกโมกมัน  แก่นสน  ฝางเสน  กระเทียม  ลำพันแดง  พริกไทย  ผิวมะกรูด  เปลือกโลด  ผลมะแว้งทั้งสอง  เบญจกูล สิ่งละ 1 ส่วน  ผลจันทน์เทศ 16 ส่วน
วิธีใช้  บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกขี้อ้ายต้มแทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ  แก้สันนิปาตะอชิน หายแล

ปักวาตะอติสาร ( พิเศษ )
บังเกิดแก่กองคูถเสมหะ กล่าวคือ วาโยพัดกำเริบไม่ให้เสมหะคุมกันเข้าได้ อุจจาระมีสีขาวดุจดังน้ำข้าวเช็ด เหม็นดุจซากศพอันเน่าโทรม ให้ลงไหลไปไม่ได้ว่างเวลา ให้บริโภคอาหารไม่ได้ ให้อาเจียนออกแต่เขฬะเหนียว ให้เนื้อเต้น ให้เกิดสะอึก ลักษณะดังกล่าวมานี้เป็นอสาทิยะอติสารโรค รักษายากนัก

คัมภีร์ตักศิลา

คัมภีร์ตักศิลา
คัมภีร์ตักศิลา เป็นคัมภีรืที่กล่าวถึงลักษณะอาการ การรักษาไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ซึ่งจำแนกไว้หลายอย่าง 
โรคไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ที่กล่าวในคัมภีร์ตักศิลา มีดังนี้
ไข้พิษไข้กาฬ                           21  จำพวก
ไข้รากสาด (ไข้กาฬ)                    9  จำพวก
ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ)        8  จำพวก
ไข้กาฬ                                  10  จำพวก
ฝีกาฬ                                   10  จำพวก
ไข้กระโดง                                4  จำพวก
ฝีกาฬ                                     6  ชนิด
ไข้คดไข้แหงน                           2  จำพวก
ไข้หวัด                                   2  จำพวก
ไข้กำเดา                                 2  จำพวก
ไข้ 3 ฤดู                                 3  จำพวก
1. ลักษณะอาการของไข้พิษไข้กาฬ
         ลักษณะการผุด เกิดขึ้นมาบางทีไม่เจ็บไข้ สบายอยู่เป็นปกติ ไข้เกิดภายใน ให้ผุดเป้นแผ่นเป็นเม็ดสีแดง สีดำ สีเขียวก็มี เป็นทรายทั่วทั้งตัวก็มี ผุดได้ 1 วัน 2 วัน 3 วัน จึงล้มไข้ และใน 1 วัน 2 วัน 3 วันนั้น ทำพิษต่างๆ ผุดขึ้นเป้นแผ่น เป็นวง เป็นเม็ดทรายขึ้นมามีสีแดง สีดำ สีเขียว สีคราม ทำให้รอดบ้าง ตายบ้าง ให้แพทย์ให้ยากระทุ้งพิษนั้นให้สิ้น ถ้ากระทุ้งพิษขึ้นไม่หมดกลับไปลงกินตับกินปอด ให้ถ่ายออกเป็นโลหิตเสมหะ บางทีให้ลงทางปัสสาวะ ให้ปิดปัสสาวะ บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิต ให้ไอ บางทีให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้ชักเหลือกตากลับ บางทีทำพิษให้จับหัวใจ ให้นอนกรนไปไม่มีสติสมปฤดี ให้จับกรนครอกๆ บางทีกระทำให้ปิตตะสมุฏฐานกำเริบ ให้เหลืองไปทั่วกาย ถ้าแพทย์รักษาดีก็จะรอด ถ้ารักษาไม่ดีก็จะตาย ให้ตรองให้จงหนัก พระผู้เป็นเจ้าจึงให้แพทย์พิจารณารักษาไข้พิษ ไข้เหนือ ให้ละเอียด ถ้าไม่รู้จักไข้เหนือ ไข้พิษ ห้ามไม่ให้ไปรักษาเขาเห็นแก่อามิสสินจ้าง โลภจะเอาทรัพย์เขา วางยาพิษเขาตายลงด้วยพิษยาของแพทย์ แพทย์นั้นจะตกในมหาอเวจีนรก ถ้าแพทย์ผู้ใดประกอบไปด้วยเมตตาจิต มีสติปัญญารักษาวางยาให้ถูกกับโรค แพทย์ผู้นั้นก็จะเจริญมีโภคทรัพย์มา มีอายุยืนนาน

2. การพิจารณารักษาไข้พิษไข้กาฬ  การพิจารณารักษาไข้พิษไข้กาฬนั้นมีข้อห้ามดังนี้
1. ห้ามวางยารสร้อน
2. ห้ามวางยารสเผ็ด
3. ห้ามวางยารสเปรี้ยว
4. ห้ามประคบ
5. ห้ามรับประทานส้มมีผิวมีควัน ห้ามกะทิน้ำมัน
6. ห้ามปล่อยปลิง (ห้ามเอาโลหิตออก)
7. ห้ามถูกน้ำมัน
8. ห้ามถูกเหล้า
9. ห้ามกิน ห้ามอาบน้ำร้อน
10. ห้ามนวด
หมายเหตุ ถ้าไม่รู้กระทำผิดดังกล่าวมานี้ อาจเป็นอันตรายถึงตายได้

3. ยารักษาไข้พิษไข้กาฬ
ให้แพทย์ใช้ยากระทุ้งพิษให้สิ้น ถ้ากระทุ้งพิษไม่หมด ก็จะกลับลงไปกินตับกินปอด ให้ถ่ายออกมาเป็นโลหิตเสมหะ ทำพิษต่างๆ ถ้ารักษาดีก็มีโอกาสรอด ถ้ารักษาไม่ดีก็ตาย ดังนั้นแพทย์เมื่อจะกระทุ้งพิษให้ไข้พิษไข้กาฬออกมานั้น จะต้องใช้ยาชื่อ แก้ว 5 ดวง (ยา 5 ราก)
และยาอื่นๆ ตามลำดับ ดังนี้

ขนานที่ 1 ยากระทุ้งพิษ (ยาแก้ว 5 ดวง) มีดังนี้
   1) รากชิงชี่ 
   2) รากย่านาง 
   3) รากคนทา 
   4) รากเท้ายายม่อม 
   5) รากมะเดื่อชุมพร
ยาทั้งนี้ เอาสิ่งละเสมอภาคกัน ต้มให้รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมงต่อครั้ง สรรพคุณ กระทุ้งพิษ

ขนานที่ 2 (ยาประสะผิวภายนอก) มีดังนี้
   1) ใบย่านาง 
   2) ใบมะขาม 
   3) เถาวัลย์เปรียง
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่งละเสมอภาค บดแทรกดินประสิว ละลายน้ำซาวข้าวพ่น ถ้าไมดีขึ้น กระทำพิษให้ตัวร้อนเป็นเปลว ถ้าตัวร้อนจัดให้แต่งยาพ่นซัำอีก

ขนานที่ 3 (ยาพ่นภายนอก) มีดังนี้
   1) เถาขี้กาแดง เอาทั้งใบ และราก 
   2) เถาย่านาง เอาทั้งใบ และราก
   3) รากฟักข้าว 
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่งละเสมอภาค บกแทรกแทรกดินประสิวพอควร ละลายน้ำซาวข้าว ทั้งให้กินและพ่นภายนอก เมื่อใช้ยาดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ใช้ยาขนานต่อไป ดังนี้

ขนานที่ 4 ยาพ่น และยากิน มีดังนี้
   1) ใบทองหลางใบมน  
   2) เปลือกทองหลางใบมน 
   3) ข้าวสาร
ยาทั้งนี้ เอาหนักสิ่ละเสมอภาค บดแทรกดินประสิว ทั้งกินทั้งพ่น เมื่อได้ใช้ยากินกระทุ้งภายใน และภายนอกแล้ว ก็ให้ต้มยากินรักษาภายในอีกด้วย ดังต่อไปนี้

ขนานที่ 5 ยาแปรไข้ มีดังนี้
   1) ใบมะยม                                 7) ใบคนทีสอ
   2) ใบมะนาว                                8) ใบหมากผู้
   3) หญ้าแพรก                              9) ขมิ้นอ้อย
   4) ใบมะกรูด                              10) ใบมะเฟือง
   5) ใบมะตูม                               11) ใบหมากเมีย
   6) หญ้าปากควาย
ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดละลายน้ำซาวข้าว รับประทานแปรไข้จากร้ายให้เป็นดี นอกจากยารับประทานแปรไข้ภายในแล้ว ยังมียาพ่นแปรพิษภายนอกอีก คือ

ขนานที่ 6 ยาพ่นแปรผิวภายนอก มีดังนี้
   1) รังหมาร่าที่ค้างแรมปี
   2) หญ้าแพรก
   3) หญ้าปากควาย
   4) ใบมะเฟือง
ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดปั้นเป็นเม็ด เอาน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย พ่นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น เมื่อได้รักษาเป็นระยะมาแล้ว อาการไม่ดีขึ้นตามลำดับ ก็ควรให้กินยารักษาไข้เฉพาะ เรียกว่า ยาครอบไข้ตักศิลา มีดังนี้
1) จันทน์แดง                                8) ใบสวาด
2) ง้วนหมู                                    9) รากจิงจ้อ
3) ใบผักหวานบ้าน                        10) ใบมะนาว
4) กระลำพัก                               11) จันทน์ขาว
5) หัวคล้า                                  12) รากสะแก
6) รากฟักข้าว                              13) เถาย่านาง
7) กฤษณา                                 14) ขอนดอก
ยาทั้งนี้ หนักสิ่งละเสมอภาค บดแทรกพิมเสนพอควร ใช้น้ำซาวข้าวเป็นกระสาย รับประทานเป็นยารักษาภายใน รับประทานเป็นประจำจนกว่าจะหาย

ไข้พิษไข้กาฬต่างๆ ที่กล่าวมาในคัมภีร์ตักศิลา มีดังนี้
1. ไข้พิษไข้กาฬ    21 จำพวก
1)  ไข้อีดำ                                  12)  ไข้ข้าวไหม้น้อย
2)  ไข้อีแดง                                13)  ไข้ข้าวใหม่ใหญ่
3)  ไข้ปานดำ                               14)  ไข้กระดานหิน
4)  ไข้ปานแดง                             15)  ไข้สังวาลย์พระอินทร์
5)  ไข้ดานหิน                              16)  ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม
6)  ไข้มหาเมฆ                             17)  ไข้ดาวเรือง
7)  ไข้มหานิล                              18)  ไข้หงษ์ระทด
8)  ไข้ระบุชาด                             19)  ไข้จันทร์สูตร
9)  ไข้สายฟ้าฟาด                         20)  ไข้สุริยะสูตร
10)  ไข้ไฟเดือน 5                         21)  ไข้เมฆสูตร
11)  ไข้เปลวไฟฟ้า

2. ไข้รากสาด (ไข้กาฬ)    9 จำพวก
1) ไข้รากสาดปานขาว                    6) ไข้รากสาดปานม่วง
2) ไข้รากสาดปานแดง                    7) ไข้รากสาดนางแย้ม
3) ไข้รากสาดปานเหลือง                 8) ไข้รากสาดพนันเมือง
4) ไข้รากสาดปานดำ                      9) ไข้รากสาดสามสหาย
5) ไข้รากสาดปานเขียว

3. ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ)    8 จำพวก
1) ไข้ประดงมด                             5) ไข้ประดงลิง
2) ไข้ประดงช้าง                            6) ไข้ประดงแมว
3) ไข้ประดงควาย                          7) ไข้ประดงแรด
4) ไข้ประดงวัว                              8) ไข้ประดงไฟ

4. ไข้กาฬ    10  จำพวก
1) ไข้ประกายดาษ                             6) ไข้เริมน้ำค้าง
2) ไข้ประกายเพลิง                            7) ไข้เริมน้ำข้าว
3) ไข้ออกหัด                                   8) ไข้ลำลาบเพลิง
4) ไข้ออกเหือด                                 9) ไข้ไลามทุ่ง
5) ไข้งูสวัด (หรือตวัด)                       10) ไข้กำแพงทะลาย

5. ฝีกาฬบังเกิดในไข้พิษ   10  จำพวก
1) กาฬฟองสมุทร                              6) กาฬทูม
2) กาฬเลี่ยมสมุทร                             7) กาฬทาม
3) กาฬทามสมุทร                              8) ไข้มะเร็งตะมอย
4) กาฬทามควาย                               9) ไข้มะเร็งปากทูม
5) กาฬไข้ละลอกแก้ว                        10) ไข้มะเร็งเปลวไฟ

6. ฝีกาฬ    6  ชนิด
1) กาฬมะเร็งนาคราช                      4) กาฬแม่ตะงาว
2) กาฬฟองสมุทร                          5) กาฬตะบองชะนวน
3) กาฬตะบองพะลำ                       6) กาฬตะบองกาฬ

7. ไข้กระโดง (ไข้กาฬ)   4  จำพวก
1) ไข้กระโดงไฟ                            3) ไข้กระโดงแกลบ
2) ไข้กระโดงน้ำ                            4) ไข้กระโดงหิน

8. ไข้คดไข้แหงน   2  จำพวก
1) ไข้คด
2) ไข้แหงน

9. ไข้หวัด   2  จำพวก
1) ไข้หวัดน้อย
2) ไข้หวัดใหญ่

10. ไข้กำเดา   2  จำพวก
1) ไข้กำเดาน้อย
2) ไข้กำเดาใหญ่

11. ไข้  3 ฤดู   3  จำพวก
1) ไข้ในคิมหันตฤดู
2) ไข้ในวสันตฤดู
3) ไข้ในเหมันตฤดู

ไข้พิษไข้กาฬ  21  จำพวก
ไข้อีดำ  ลักษณะการผุด ผุดเป็นแผ่นขนาด 1 – 2 นิ้ว บางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียน ใบพุทรา
ขึันทั่วทั้งตัว ผุดขึ้นเป็นสีดำ เรียกว่า “ไข้อีดำ”
อาการ ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ตัวร้อนเป็นเปลวเพลิง ตาแดงดังโลหิต ปวดศีรษะร้อนเป็นตอนเย็นเป็นตอนไม่เสมอกัน บางทีจับตั้งแต่รุ่งจนเที่ยง บางทีจับตั้งแต่เที่ยงจนค่ำ หรือบางทีจับตั้งแต่ค่ำจนรุ่ง
ไข้อีแดง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนกับไข้อีดำ แต่ว่าเป็นเม็ดสีแดง เรียกว่า “ไข้อีแดง”
อาการ จับเหมือนไข้อีดำ แต่ว่าไข้อีแดงจะเบากว่าไข้อีดำ
ไข้ปานดำ ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าวงสะบ้ามอญ เท่าใบพุทรา ขนาด 1 – 2 นิ้ว ผุดขึ้นมาเป็นสีดำ ขึ้นมาครึ่งตัว ถ้าผุดขึ้นมาทั้งตัวสีดำดังผลหว้าสุก สีดังคราม สีดำดังหมึก ถ้าผุดทั้งตัวดังกล่าวมานี้ อาจตายได้
อาการ จับเท้าเย็นมือเย็น บางทีมือร้อน เท้าร้อน ตัวร้อนเป็นเปลว ปวดศีรษะ ตาแดง ร้อนในอก เซื่อมซึม พิษทำภายใน ถ้าใช้ยากระทุ้งพิษไข้ไม่ออก ให้ร้อน ให้กระหายน้ำ บางทีให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง
ไข้ปานแดง ลักษณะการผุด และอาการ เหมือนกับไข้ปานดำ แต่สีแดงเบากว่าสีดำ ส่วนอาการอื่นๆ เหมือนกับไข้ปานดำ  
ไข้ดานหิน ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาที่ต้นขาทั้งสองข้าง เป็นวงเขียวก็มี เป็นสีผลหว้าสีคราม สีผลตำลึงสุก หรือสีหมึก
อาการ จับให้ตัวเย็นดังหิน ให้ร้อนในกระหายน้ำ ทำพิษให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้ปากแห้งคอแห้ง เชื่อมซึม ทำพิษให้สลบ ถ้าจะรักษา ก็ให้เร่งรักษาแต่ยังเป็นนใหม่ๆ ถ้าเปื่อยออกมาแล้วรักษาไม่หาย
ไข้มหาเมฆ ลักษณะการผุด ถ้าผุดขึ้นในเนื้อยังขึ้นไม่หมด มีสัณฐานเท่าผลจิงจ้อสุก เป็นเงาอยู่ในเนื้อยังขึ้นไม่หมด ผุดทั้งตัวก็มีสีดำเมฆสีดำนิล
อาการ กระทำพิษจับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้หอบให้สะอึก ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่รู้สึกตัว ให้เชื่อมมัวไปไม่เป็นเวลา ไม่มีสติสมปฤดี ให้สลบ 
ไข้มหานิล ลักษณะ และอาการ เหมือนไข้มหาเมฆ
ไข้ระบุชาด ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นเมล็ด เท่าเมล็ดผักปลังก็มี เท่าเมล็ดเทียนก็มี เท่าเมล็ดงาก็มี เป็นเหล่ากันอยู่ ขนาด 1 – 2 นิ้ว สีดังชาด ขึ้นทั้งตัว
อาการ ทำพิษให้เจ็บเชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบสะอึก กระทำพิษต่างๆ 
ไข้สายฟ้าฟาด ลักษณะการผุด ผุดเป็นริ้วลงมา ผุดทั้งหน้าทั้งหลัง ขนาด 1 – 2 นิ้ว สีแดงดังผลตำลึงสุกก็มี สีเขียวดังสีครามก็มี ดังสีผลหว้าสุกก็มี ดังสีดินหม้อก็มี
อาการ จับทำพิษร้อนในกระหายน้ำ ให้ปากขม ปากแห้ง ฟันแห้ง ให้ร้อนเป็นเปลวไปทั้งตัว ให้เชื่อมมัวเป็นกำลัง ไม่มีสติสมปฤดี ให้สลบ 
ไข้ไฟเดือน 5 ลักษณะการผุด ผุดขึ้นที่อกดำก็มี แดงก็มี สีดังเปลวไฟ
อาการ ให้ร้อนในให้กระหายน้ำ ให้เชื่อมมัว ไม่มีสติสมปฤดี ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้สลบ
ไข้เปลวไฟฟ้า ลักษณะไข้ กระทำพิษให้ร้อนเป็นที่สุด ให้ร้อนเป็นเปลว จับเอาหัวอกดำ จมูกดำ หน้าดำ สีเป็นควัน
อาการ ให้ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ฟันแห้ง ให้ปาก ลิ้น แตกระแหง ลิ้นดำเพดานลอก ให้สลบไม่มีสติสมปฤดี 
ไข้ข้าวไหม้น้อย ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัด เป็นแผ่นทั่วตัว มียอดแหลมขาวๆ
อาการ ให้จับตัวร้อนเป็นเปลวไฟ ให้มือเท้าเย็น ให้เจ็บไปทั่วสารพางค์กาย ให้เจ็บเนื้อในกระดูก ให้หอบ ให้สะอึก ให้เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง
ไข้ข้าวไหม้ใหญ่ ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัด เป็นแผ่นทั่วทั้งตัว มียอดแหลมขาวๆ 
อาการ ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะมาก ตาแดงดังโลหิต เท้าเย็นมือเย็น เจ็บเนื้อในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง (มีพิษแรงกว่าไข้ข้าวไหม้น้อย) 
ไข้กระดานหิน ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัวเหมือนลมพิษ แดงดังผลตำลึงสุก เป็นเม็ดๆ เหมือนผด แล้วกลับดำลงติดเนื้อ ให้คัน
อาการ จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปวดศีรษะเป็นมาก ให้ตาแดงดังโลหิต ให้เท้าเย็นมือเย็น ทำพิษให้เจ็บในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้หอบ ให้สะอึก
ถ้าแพทย์รักษาดี พิษนั้นคลายลง แต่ถ้าผุดนั้นไม่หาย ต่อมา 3 เดือนจึงตาย  
ไข้สังวาลย์พระอินทร์ ลักษณะการผุด ผุดขึ้นเป็นเม็ดแดงๆ เป็นแถวๆ ถ้าหญิงขึ้นซ้าย ถ้าชายขึ้นขวา สะพายแล่งคล้ายสังวาลย์ 
อาการ เป็นพิษให้หอบ และสะอึก ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว  
ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาทั้งตัว ให้ปวดในเนื้อในกระดูก ผุดขึ้นมาดังลมพิษ แดงดังตำลึงสุก เป็นแผ่นทั่วทั้งตัว ใหญ่เท่า 2 – 3 นิ้วก็มี เป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนมดกัดก็มี แล้วกลับดำ ถ้ารักษาคลายพิษแล้วผุดขึ้นเป็นริ้วแล้วกลับดำเป็นหนังแรด อยู่ 6 เดือน ตาย ถ้าลงไปกินตับกินปอดขาดออกมา ตาย 
อาการ ให้จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้ปวดศีรษะมาก ตาแดงดังโลหิต ให้ร้อนเป็นกำลัง ให้มือเย็นเท้าเย็น ให้ทำพิษในเนื้อในกระดูก ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ให้หอบให้สะอึก 
ไข้ดาวเรือง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนลายโคมครึ่งลูก
อาการ ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ตาแดงดังโลหิต ปวดศีรษะมาก ดังว่าตาจะแตกออกมา ให้อาเจียนเป็นกำลัง ให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง บางที่ทำพิษถึงสลบ  
ไข้หงษ์ระทด  ลักษณะการผุด ไม่มีการผุด แต่ให้ตัวเกรียมไปทั่วทั้งตัว 
อาการ จับให้ตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็น เชื่อมซึม ให้หอบ ให้สะอึก จับตัวแข็งไปเหมือนท่อนไม้ ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ไม่มีสติสมปฤดี 
ไข้จันทรสูตร ลักษณะการผุด ไม่มีการผุด ต่อพระจันทร์ขึ้นทำพิษให้สลบ ถ้าพระจันทร์ไม่ขึ้นพิษก็คลายลง  
อาการ ให้จับตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็น ให้เชื่อมมัวไม่เป็นสติสมปฤดี ให้หอบให้สะอึก จับตัวแข็งไปเหมือนท่อนไม้ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง จับไม่เป็นเวลา 
ไข้สุริยสูตร  ลักษณะการผุด ลักษณะอาการเหมือนไข้จันทรสูตร ผิดกันแต่พอพระอาทิตย์ขึ้นแล้วจะทำพิษมากขึ้น จนพระอาทิตย์ตกพิษก็คลายลง 
ไข้เมฆสูตร ลักณะการผุด ลักษณะอาการเหมือนไข้สุริยสูตร แต่ผิดกันบ้าง เวลาเกิดพายุฟ้าฝนเมฆตั้งขึ้นทั่วทิศ กระทำพิษให้สลบ
       
ไข้รากสาด (ไข้กาฬ)
แบ่งออกได้  9 จำพวก คือ

         อาการของไข้รากสาด ให้เท้าเย็นมือเย็น ตัวร้อนเป็นเปลว ปวดศีรษะมาก ตาแดงเป็นโลหิต จับเพ้อ ร่ำรี้ร่ำไรดังปีศาจเข้าสิงอยู่ ให้ชักมือกำเท้ากำ ตาเหลือกตาซ้อน ร้อนเป็นตอนเย็นเป็นตอน บางทีจับเหมือนหลับ จับตัวเย็น ให้เหงื่อตกมาก แต่ร้อนภายในเป็นกำลัง ให้หอบให้สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง ให้จับเชื่อมมัวไม่มีสติสมปฤดี  บางทีกระทำพิษภายใน ให้ลงเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต อาเจียนเป็นโลหิต เป็นเสมหะโลหิตเหน้า ขึ้นเหมือนลายต้นกระดาษก็มี ลายเหมือนงูลายสาบก็มี ลายเหมือนสายเลือดก็มี ลายเหมือนดีบุกก็มี อาการของไข้รากสาดทั้ง 9 จำพวกนี้เหมือนกัน จะต่างกันก็แต่การผุดเท่านั้น
ไข้รากสาดปานขาว ผุดขึ้นมาเท่าผลพุทรา ขาวเหมือนสีน้ำข้าวเช็ด ผุดขึ้นมาทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดปานขาว 
ไข้รากสาดปานแดง ผุดขึ้นมาเป็นเมล็ดถั่วเล็กๆ แดงๆ เป็นหมู่ขนาด 1 – 2 นิ้วทั้งตัว  เรียกว่า รากสาดปานแดง 
ไข้รากสาดปานเหลือง ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดเล็กๆ มีขนาด 1 – 2 – 3 นิ้ว แต่ผิวนั้นเหลือง ลิ้นเหลือง เรียกว่า ไข้รากสาดปานเหลือง 
ไข้รากสาดปานดำ ผุดขึ้นมาเท่างบน้ำอ้อย ดังนิล ลิ้นดำผุดทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดปานดำ 
ไข้รากสาดปานเขียว ผุดขึ้นมาเป็นหมู่ ขนาด 1 – 2 -3 นิ้ว เขียวดังสีคราม ลิ้นก็เขียว ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดปานเขียว  
ไข้รากสาดปานม่วง ผุดขึ้นมาสีดุจดังผลผักปลังสุก เรียกว่า ไข้รากสาดปานม่วง (ตาย) 
ไข้รากสาดนางแย้ม ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาด 1 – 2 – 3 นิ้ว มีลักษณะเหมือนดอกนางแย้ม ผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดนางแย้ม 
ไข้รากสาดพนันเมือง  ผุดขึ้นมาเป็นหมู่เป็นริ้วมาเหมือนตัวปลิง โตขนาด 1 – 2 – 3 นิ้ว ดำเหมือนดินหม้อไปทั่วทั้งตัว ชื่อว่า ไช้รากสาดพนันเมือง 
ไข้รากสาดสามสหาย ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดๆ เหมือนเท้าสุนัข มีสีแดงทั่วทั้งตัว เรียกว่า ไข้รากสาดสามสหาย
          ถ้าผู้ใดจะเป็นแพทย์ไปภายหน้า  ให้เร่งตรึกตรองพิจารณาแก้ไขให้ละเอียดจึงควร ถ้าแพทย์คนใดได้เรียนต่อจากครูจะแก้ได้สักส่วนหนึ่ง จะตายสักสามส่วน ถ้าแพทย์คนใดมิได้เรียนต่อจากครูรู้แต่ตำรา เป็นโมหาคติ แก้ไม่ได้ร้อยคนจะรอดสักคนหนึ่ง
 
ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ)
มี 8 จำพวก คือ

         ไข้ประดงทั้ง 8 ประการนี้ มีการจับคล้ายคลึงกันคือ จับให้เท้าเย็น มือเย็น ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ร้อนใน กระหายน้ำ ให้หอบ ให้สะอึก ให้เมื่อยในกระดูก ให้เสียวไปทั้งตัว ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง ให้ปากขม ปากเปรี้ยว ปากหวาน ให้ปากคอ ลิ้น แห้งมาก ให้เพ้อ กลุ้มอกกลุ้มใจ ทั้งนี้เป็นลักษณะที่ไข้กาฬจะแทรกในไข้พิษ 8 ประการ มีลักษณะต่างกันดังนี้

ไข้ประดงมด    ผุดขึ้นขึ้นมาเหมือนยุงกัดทั่วทั้งตัว ให้คัน ทำพิษให้แสบร้อน
ไข้ประดงช้าง   ผุดขึ้นเหมือนผิวมะกรูด ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน ให้คัน 
ไข้ประดงควาย ผุดขึ้นมาเหมือนเงาหนอง ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน 
ไข้ประดงวัว     ผุดขึ้นมาเหมือนผลมะยมสุก  ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน 
ไข้ประดงลิง     ผุดขึ้นมาเหมือนเมล็ดข้าวสารคั่ว ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน 
ไข้ประดงแมว   ผุดขึ้นมามีสัณฐานดังตาปลา ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน 
ไข้ประดงแรด    ผุดขึ้นมามีสัณฐานแดงหนาดังหนังแรด แล้วให้คล้ำดำเข้าเป็นเกล็ดเหมือนหนังแรด ทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อน 
ไข้ประดงไฟ ผุดขึ้นมาเหมือนไข้ระบุชาด มีเม็ดแดง ยอดดำ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่องซึม กระหายน้ำมาก
         ไข้ประดงทั้ง 8 ประการนี้ ให้เร่งวางยาดับพิษกาฬ และยากะทุ้งพิษกาฬ อย่าให้พิษกลับเข้าในข้อกระดูกได้ ถ้าวางยากระทุ้งไม่ออกสิ้นเชิง กลับทำพิษคุดในข้อในกระดูก ย่อมให้กลับกลายไปเป็นโรคเรื้อน เป็นพยาธิเป็นลมจะโป่ง ลมประโคมหินบวมไปทุกข้อทุกลำ มีพิษ ให้ไหวตัวไม่ได้ ร้องไปทั้งกลางวัน และกลางคืน ราวกะคอจะแตกออกไป (ประดง 7 จำพวก ยกเว้นประดงแรดอย่างเดียว) 
         ประดงแรดนั้นแก้พิษตกคลายได้ในปีหนึ่ง แต่เม็ดยอดยังไม่หาย กลายไปทำพิษให้คันผิวหนาดังหนังแรด คลายลงอยู่ปีหนึ่ง แล้วให้ตกโลหิตกินตับกินปอดขาดออกมาตาย
 
ไข้กาฬ 10 จำพวก (เกิดแก่คนทั้งหลาย) 
คือ

ไข้ประกายดาษ ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนฝีดาษทั่วทั้งตัว ทำพิษให้สลบ 
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว จับเท้าเย็นมือเย็น ปวดศีรษะ ตาแดงดังโลหิตเชื่อมซึม ปวดในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้าง  คางแข็ง ให้หอบให้สะอึก
ไข้ประกายเพลิง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเหมือนประกายดาษ แต่เม็ดผิดกัน  เม็ดใหญ่กว่าเม็ดทรายขึ้นทั่วทั้งตัว
อาการ เหมือนปรกายดาษ ร้อนเป็นไฟ ศีรษะนั้นร้อนเป็นไฟ เหมือนไฟลวก ทำพิษมาก 
ไข้ออกหัด ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดทรายทั่วทั้งตัว มียอดแหลมๆ ถ้าหลบเข้าไปในท้องให้ลง
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม ให้ปวดศีรษะอยู่วันหนึ่ง หรือสองวันจึงมีเม็ดผุดขึ้นมา 
ไข้ออกเหือด ลักษณะการผุด เหมือนกับไข้ออกหัด แต่ไข้ออกเหือดยอดไม่แหลม ลักษณะหัดกับเหือดมีลักษณะคล้ายคลึงกัน 
ไข้งูสวัด (ตวัด)  ลักษณะการผุด เป็นเม็ดทรายขึ้นมาเป็นแถว มีสัณฐานเหมือนงูเป็นเม็ดพองๆ เป็นหนองก็มี ถ้าผู้หญิงเป็นซ้าย ถ้าผู้ชายเป็นขวา แต่ถ้าข้ามสันหลังไปรักษาไม่ได้ (ตาย)
อาการ จับสะบัดร้อนสะบัดหนาว บางทีให้ปวดศีรษะ บางทีให้จับ (ไข้) 
ไข้เริมน้ำค้าง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่น ขนาด 1 – 2 – 3 – 4 นิ้ว เป็นเหล่าๆ กัน มีน้ำใสๆ เรียกว่า เริมน้ำค้าง 
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศรีษะ 
ไข้เริมน้ำข้าว ลักษณะการผุด และอาการ เหมือนกับเริมน้ำค้าง แต่ผิดกันที่ เริมน้ำข้าวเม็ดจะมีสีขุ่น  
ไข้ลำลาบเพลิง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่น
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ทำพิษต่างๆ ถ้าวางยาไม่ดี น้ำเหลืองแตกตาย 
ไข้ไฟลามทุ่ง ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเป็นแผ่นเหมือนลำลาบเพลิง แต่ว่ามีอาการรวดเร็วกว่าลำลาบเพลิงมาก 
ไข้กำแพงทลาย ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาหัวเดียว ทำพิษมาก 
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม ร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น ถ้าน้ำเหลืองแตกพังออกมา วางยาไม่หยุด ตาย 
ฝีกาฬเกิดแทรกในไข้พิษ  10  ประการ
กาฬฟองสมุทร ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าเมล็ดงา เมล็ดถั่ว เมล็ดผักปลังสุก เมล็ดถั่วดำ นูนสูงขึ้นมาเป็นหลังเบี้ยก็มี  เกิดขึ้นในปาก ในลิ้น ในเพดาน 
อาการ ถ้าขึ้นในปาก ทำพิษให้กินข้าว กินน้ำไม่ได้ ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ตัวร้อนเป็นเปลว
กาฬเลี่ยมสมุทร ลักษณะการผุด ผุดขึ้นที่ริมฝีปากทั้งสองข้าง บางทีเป็นเม็ดเท่าเมล็ดถั่วดำก็มี 
อาการ ถ้าเม็ดแตกร้าวเป็นโลหิตไหล ทำพิษให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม
กาฬทามสมุทร  ลักษณะการผุด เกิดบวมยาวขึ้นมาตามข้างลิ้น ข้างขากรรไกร ตามไรฟัน ต้นลิ้น
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม 
กาฬทามควาย ลักษณะการผุด บังเกิดแต่ต้นกรามทั้งสองข้าง มีสัณฐานยาวไปเหมือนตัวปลิง
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว เชื่อมซึม
กาฬไข้ละลอกแก้ว ลักษณะการผุด เกิดในท่ามกลางไข้พิษ มีลักษณะสัณฐานเกิดเท่าผลผักปลังก็มี เท่าเมล็ดถั่วดำก็มี เท่าเมล็ดถั่วเขียวก็มี เท่าเมล็ดจิงจ้อก็มี เป็นเงาหนองก็มี 
ไข้กาฬทูม ลักษณะการผุด ให้บวมตามขากรรไกรทั้งสองข้าง บางทีก็บวมแต่ข้างเดียว
อาการ ทำพิษให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ร้อนในกระหายน้ำ 
ไข้กาฬทาม ลักษณะ และอาการ เหมือนกับไข้กาฬทูม แต่ผิดกันที่บวมตั้งแต่ขากรรไกร มาถึงคอทั้งสองข้าง
ไข้มะเร็งตะมอย ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าแม่มือ ผลจิงจ้อ ถ้าฐานขาวหัวดำ ทำพิษหนัก บางทีผุดขึ้นมาที่ตัว ที่แขน ที่ขา ให้ยาก็ไม่หาย แตกออกได้แล้ว ถ้าไม่ตายกลายเป็นะเร็ง
อาการ จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว
ไข้มะเร็งปากทูม ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาจากหลังทั้งสองข้าง ข้างเดียวก็มี มีสัณฐานยอดเขียวเหมือนน้ำคราม 
อาการ ทำพิษต่างๆ ถ้าแพทย์ให้ยาไม่หาย กลับแตกออกไปจะลงไปเหมือนปากทูม ถ้าแก้ดีไม่ตายกลายเป็นมะเร็งปากหมู
ไข้มะเร็งเปลวไฟ ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาเท่าวงสะบ้า ยอดเขียว
อาการ ทำพิษเหมือนถูกไฟไหม้ให้สลบ ให้แพทย์แก้ให้ดี ถ้าแตกหวะออกไปได้ ตาย
ไข้กระโดง (ไข้กาฬ)
มี 4 จำพวก

ไข้กระโดงไฟ มีลักษณะเป็นพิษเหมือนเปลวไฟ เผาทั่วกาย ร้อนในกระหายน้ำ ปาก ฟัน ลิ้น คอ แห้ง
ไข้กระโดงน้ำ อาการจับให้นอนเชื่อมมัวไป ไม่มีสติสมปฤดี ถึงจะเอารังมดแดงเข้ามาเคาะกัดให้ทั่วตัวก็มิรู้สึกตัวเลย
ไข้กระโดงแกลบ มีสัณฐานผุดขึ้นมาเหมือนเม็ดทรายทั่วตัว ให้คันเป็นกำลัง แม้จะเกาให้ทั่วตัว ก็ไม่หายคัน ถึงจะเอาไม้ขูดให้โลหิตออกไปทั้งตัวก็ไม่หายคัน
ไข้กระโดงหิน  ทำพิษต่างๆ ไม่รู้ที่จะบอกแก่ใครได้ให้ยืนที่เดียว ถ้าจะให้นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะแทบจะขาดใจตาย
ฝีกาฬ  6  ชนิด
กาฬมะเร็งนาคราช เกิดขึ้นที่หัวแม่มือทั้งสองข้าง ข้างเดียวก็มี มีสัณฐานเท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำก็มี เท่าผลผักปลังก็มี เลื่อมเป็นหลังเบี้ย เท่าผลมะยม เท่าผลเอ็น เท่าเม็ดหินก็มี มีอาการให้จับ สะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีรษะ ทำพิษ ที่ผุดขึ้นมาเหมือนถูกไฟ ให้มือดำเหมือนดินหม้อ ทำพิษให้กลุ้ม หัวใจแน่นิ่งไป ให้เร่งรักษาให้ดี ถ้ารักษาไม่คลายให้มือดำ แขนดำ (ตาย)
กาฬฟองสมุทร (ไข้ฟองสมุทร)  ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมาตามช่องอก ตามราวนมเท่าวงสะบ้ามอญ เขียวก็มี ดำก็มี ขนาด 2 นิ้ว 3 นิ้ว ยาวรีไป 
ตะบองพะลำ  ขึ้นที่ขาหนีบทั้งสองข้างในที่ลับ มีสัณฐานโตเท่า 1 นิ้ว แดงก็มี ดำก็มี เขียวก็มี ทำพิษ ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง จับนิ่งแน่ไป
กาฬแม่ตะงาว (ไข้แม่ตะงาว) ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมายาวรี ขนาด 1 – 2 นิ้ว ขึ้นขาหนีบต้นขาในที่ลับทั้งสองข้าง ขึ้นตามรักแร้ ขึ้นตามหลังตามอก ถ้าจะขึ้นมา ทำพิษให้สลบ ถ้ารู้ไม่ถึงโรคสำคัญว่าลมจับ ถ้าสงสัย ให้เอาเทียนส่องดู  
กาฬตะบองชนวน (ไข้ตะบองชนวน)  ลักษณะการผุด ผุดขึ้นมามีสัณฐานเรียวเล็กเท่าหวายตะคล้า ขนาด 1-2 นิ้ว ยาวรีผุดขึ้นมาบั้นเอว ก้นขบ ขาทั้งสอง ในที่ลับ ท้องน้อย ราวข้าง ใต้รักแร้ ทำพิษต่างๆ ดำก็มี แดงก็มี เขียวก็มี ทำพิษให้สลบ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง
กาฬตะบองกาฬ (ไข้ตะบองกาฬ) พูดอยู่ดีๆ เดินเหินได้ ผุดขึ้นมาตามราวข้าง โตขนาดผลมะตูม ขึ้นตามบั้นเอว ตามข้อต่อ ตามหัวไหล่ทั้งสองข้าง ตามข้อศอกทั้งสองข้าง ตามข้อมือทั้งสองข้าง ตามเท้า และขา ตามโคนขาทั้งสองข้าง ตามเข่าทั้งสองข้าง บวมลิ้นขึ้นมาทำพิษมาก จะไหวตัวก็ไม่ได้
อาการ จับให้เชื่อมมัว ปากแห้ง ฟันแห้ง ลิ้นแห้ง คอแห้ง ให้หอบให้สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง ไม่มีสติสมปฤดี ให้ร้อนในกระหายน้ำ ให้คลั่งเพ้อละเมอไป แต่จะเคลื่อนไหวตัวก็ไม่ได้ 

ไข้คด ไข้แหงน  2  จำพวก
ไข้คด อาการจับ ชักงอเข้าจนเส้นหลังขาดตาย 
ไช้แหงน อาการจับไข้ชักแอ่นอกจนเส้นท้องขาดตาย
ไข้ทั้ง 2 ประการนี้ มีอายุได้เพียงวันเดียว

หมายเหตุ จุดสำคัญของไข้ทั้ง 2 ประการนี้ ให้เอามือกดที่เนื้อ แขน ขา ถ้าพองขึ้น ไม่ตาย หรือให้เอามือล้วงคอ หรือทวารหนัก ถ้ายังอุ่นอยู่ อาการพอทุเลารักษาได้ 

ไข้หวัด 2 จำพวก
ไข้หวัดน้อย เมื่อจะเกิดขึ้นนั้น อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ระวิงระไว ไอ จามน้ำมูกตก ลักษณอาการนี้เป็นเพราะไข้หวัดน้อย การรักษาไข้หวัดน้อย ให้ใช้ยาลดไข้
(อันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หาย ใน 3 วัน 5 วัน) 
ไข้หวัดใหญ่  อาการ จับให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ ให้ไอ จาม น้ำมูกตกมาก ให้ตัวร้อนให้อาเจียน ปากแห้ง ปากเปรี้ยว ปากขม กินข้าวไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอมาก และทำพิษให้คอแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง จมูกแห้ง น้ำมูกแห้ง บางทีกระทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย 
         เพราะเหตุว่ามันสมองนั้นเหลวออกไปหยดออกจากจมูกทั้ง 2 ข้าง ไปปะทะกับสอเสมหะ ( เสมหะในลำคอ) จึงทำให้ไอ ถ้ารักษาไม่คลาย กลายไปเป็นริสดวง มองคร่อ (หวัดลงปอด)  หืด ไอ และฝี 7 ประการ จะบังเกิด การรักษาไข้หวัด 2 ประการนี้ ให้ยาลดไข้ รักษาตามอาการ ให้คนไข้นอนพักผ่อนให้มากๆ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ใส่เสื้อหนาๆ ใช้ผ้าคลุมอก อย่าให้อาบน้ำ หรือถูกน้ำเย้นในขณะที่มี อาหารควรให้อาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย และอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

         หมายเหตุ อันว่าคนไข้ทั้งหลาย ไม่กินยาก็หาย อาบน้ำก็หายใน 3 วัน 5 วัน (ถ้าเป็นหวัดธรรมดา)
ในพระคัมภีร์ตักศิลากล่าวไว้ว่า ไข้หวัด 2 ประการนี้ เป็นเพราะเหตุ ฤด 3 ประการ คือ คิมหันตฤดู (ร้อน) วสันตฤดู (ฝน) เหมันตฤดู (หนาว)  โรคเกิดแก่คนทั้งหลาย คือ ต้องร้อนอย่างหนึ่ง ต้องน้ำค้างอย่างหนึ่ง ต้องละอองฝนอย่างหนึ่ง จึงทำให้เป็นไข้หวัด และผู้ที่จะเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า จงรักษาให้ดี อย่าพึงประมาทว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้ารักษาไม่ดี แก้ไม่คลาย อาจแปรไข้ถึงมรณะ (ตาย)

ไข้กำเดา  2  จำพวก
ไข้กำเดาน้อย มีอาการ ให้ปวดศีรษะ ให้ตาแดง ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ไอ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปากขม ปากเปรี้ยว กินข้าวไม่ได้ ให้อาเจียน  ให้นอนไม่หลับ
ไข้กำเดาใหญ่ มีอาการ ให้ปวดศีรษะมาก ให้ตาแดง ให้ตัวร้อนเป็นเปลว ให้ไอ ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปากแห้ง คอแห้ง เพดานแห้ง ฟันแห้ง ให้เชื่อมมัว ให้เมื่อยไปทั้งตัว จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ไม่เป็นเวลา บางทีผุดขึ้นเป็นเม็ดเท่ายุงกัดทั้งตัว แต่เม็ดนั้นยอดไม่มี บางทีให้ไอเป็นโลหิตออกมาทางจมูกทางปาก บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ ถ้าแพทย์แก้มิฟังใน 3 วัน 5 วัน สำคัญว่าเป็นไข้เพื่อ (เพราะ) เส้นเพื่อ (เพราะ) ลมอัมพฤกษ์ และไข้สันนิบาต ไม่รู้วิธีแก้ไข้กำเดาก็จะเกิดกาฬ 5 จำพวกแทรกขึ้นมา คือ กาฬพิพิธ กาฬพิพัธ กาฬคูถ กาฬมูตร กาฬสิงคลี จะทำให้ตายได้ พระอาจารย์จึงจะบอกให้ผู้ที่จะเรียนเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า ให้พึงรู้ ซึ่งลักษณะอาการไข้กำเดาไม่ใช่ไข้เล็กน้อยจะว่าง่ายๆ เพราะไข้กำเดาเป็นไข้สำคัญ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นดวงหนึ่งโลกนั้นพอเป็นสุข ครั้นขึ้นมาเป็น 2 ดวงโลกนั้นกระวนกระวายนัก ครั้นขึ้น 3 ดวงสัตว์ทั้งหลายก็ตายหมด ถ้าไม่ตายภายใน 7 วัน 9 วัน 11 วัน ก็กลายเป็นสันนิบาต สำประชวร
ไข้  3  ฤดู
ไข้ในคิมหันตฤดู คือ เดือน 5 – 6 – 7 – 8  เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) โลหิต เป็นใหญ่กว่าลม เสมหะทั้งปวง
ไข้ในวสันตฤดู คือ เดือน 9 – 10 – 11 – 12 เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) ลมเป็นใหญ่กว่าเลือด เสมหะทั้งปวง 
ไข้ในเหมันตฤดู คือ เดือน 1 – 2 – 3 – 4 เป็นไข้เพื่อ (เพราะ) กำเดา และดีเป็นใหญ่กว่าลมเสมหะทั้งปวง
ลักษณะอาการ ของไข้ 3 ฤดู ให้นอนละเมอเพ้อฝันไป เป็นหวัดมองคร่อ หิวหาแรงไม่ได้ ให้เจ็บปาก ให้เท้าเย็นมือเย็น น้ำลายมาก กระหายน้ำบ่อยๆ ให้อยากกินเนื้อพล่าปลายำให้อยากกินหวาน อยากกินคาว ให้บิดขี้เกียจคร้าน เป็นฝีพุพอง เจ็บข้อมือข้อเท้า สะท้านหนาวดังนี้ แพทย์ต้องวางยาร้อน จึงชอบกับโรค

คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์

คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์
ว่าด้วยลักษณะลำบองราหู อันบังเกิดใน 12 เดือน

ลำบองราหู เกิดในเดือน 5 เมื่อแรกจับให้ร้อน ให้ท้องขึ้นท้องพอง ลำบองนั้นเกิดแต่เตโชธาตุให้โทษจับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 6 เมื่อแรกจับทำให้มือเท้าเย็น ท้องขึ้น จักษุเหลือง จับให้สันหลังแข็ง จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 7 แรกจับทำให้บิดตัว กำมือ ตาเหลือกขึ้นเบื้องบน จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 8 เมื่อแรกจับทำให้ปากเปื่อย ยิงฟัน จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 9 เมื่อแรกจับทำให้สะท้านหนาว หดมือหดเท้า จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 10 เมื่อแรกจับทำให้ตัวร้อนเป็นเปลว มักให้สะดุ้ง ร้องปลอบไม่หยุด จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 11 เมื่อแรกจับ จับราวนม และรักแร้ ทำให้อ้ารักแร้แล้วเอามือลูบอก ร้องดิ้นไปดังจะขาดใจ 3 วันตาย แต่จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 12 เมื่อแรกจับ ทำให้ชัก ตัวเป็นเหน็บ หาสติมิได้ ร้องไม่ออก จับข้างขึ้นตายจับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 1 เมื่อแรกจับ ทำพิษให้เจ็บไปทั่วทุกขุมขน ให้ขนชูชัน ให้ผื่นขึ้นทั้งตัว ให้สะดุ้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 2 เมื่อแรกจับ จับแต่ลำคอ กระทำให้อ้าปากร้องไห้อยู่ ให้กลืนน้ำกลืนข้าวกลืนนมไม่ได้ จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 3 เมื่อแรกจับ ทำให้ท้องขึ้นท้องพองเหลือกำหนด หายใจไม่ลง ร้องไห้ดิ้นรนอยู่ดังจะขาดใจ จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลำบองราหู เกิดในเดือน 4 เมื่อแรกจับ กระทำให้ตาเหลือง ให้กำมือ และขยับตัวไม่ได้ แข็งกระด้างไปทั้งตัว จับข้างขึ้นตาย จับข้างแรมไม่ตาย
ลักษณะกาฬโรค และสันนิบาตต่างๆ 
กาฬโรคชื่อกาฬเสตระ
     เมื่อแรกขึ้นทำให้ตกใจสะดุ้งก่อน แล้วจึงผุดมาตั้งยอดสีขาว มีน้ำใส มีอาการกระทำให้ฟกบวม และมึนไปทั่วทั้งตัวไม่รู้สึกตัว ผิวหน้าซีด หาโลหิตมิได้ ฝ่ามือฝ่าเท้าซีด ขาวเป็นใย ทำให้ทุรนทุรายยิ่งนัก โรคนี้ถ้าเกิดแก่ผู้ใด ท่านว่ารักษายากนัก
สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน
     สันนิบาตนี้ถ้าบังเกิดขึ้นกับบุคคลผู้ใด มักเกิดขึ้นที่ชายตับ ให้ตับโตออกมาจนคับโครง บางทีให้ตับหย่อนลงถึงตะคาก ให้จับเป็นเวลาดังเป็นไข้ ให้เย็นทั่วทั้งตัว ให้ท้องขึ้นท้องพอง ผะอืดผะอม
สันนิบาตทุวันโทษ
     เกิดแต่กองสมุฏฐาน 6 ประการ ประชุมพร้อมกันเข้าแล้วเมื่อใด มีอาการ กระทำให้หนาว ให้บิดคร้าน มักให้ร้อนเป็นกำลัง แล้วทำให้หนาวสะท้าน บริโภคอาหารไม่ได้ เหงื่อตก สยบมัวเมา ปากขม วิงเวียน ผิวหน้าแตกระแหง มักพึงใจสิ่งอันเย็น ปัสสาวะเหลือง ตาแดง ให้เล็บ และผิวเนื้อเหลือง มีกลิ่นดังสาบม้า ลักษณะดังกล่าวมานี้ จัดเป็นทุวันโทษในมหาสันนิบาต
สันนิบาตเจรียงอากาศ
     เมื่อบังเกิดมีอาการ ทำให้ผิวหน้าเหลืองดุจทาขมิ้น ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลือง มักให้เวียนศีรษะ ให้เจ็บแสบในจักษุ กระหายน้ำ มักให้เป็นดังจะหลับแล้วมิหลับเล่า ให้เจ็บในอก ให้ปัสสาวะเหลือง ดุจน้ำกรักอันแก่ ดูสิ่งนานเห็น บริโภคอาหารไม่ได้ ซูบผอม โทษทั้งนี้เพราะเสมหะ 1 ส่วน วาโย 2 ส่วน ดี 4 ส่วน ระคนกัน
สันนิบาตเจรียงพระสมุทร
     เมื่อบังเกิดมีอาการกระทำให้ผิวเนื้อขาวซีด ฝ่ามือฝ่าเท้าซีด หนักมือ หนักเท้าเป็นกำลัง มักให้เจ็บทุกชิ้นเนื้อ ให้แน่นลำคอแน่นอก มักเป็นลมดังในคอ และให้เรอมิได้ขาด มักกระทำให้ขึ้งโกรธ มองดูสิ่งใดให้แดงไปสิ้น ครั้นเพ่งดูก็ย่อมเป็นวงไปทั้งนั้น โทษทั้งนี้เกิดแก่ดี 1 ส่วน เสมหะ 2 ส่วน วาโย 4 ส่วน ระคนกัน
สันนิบาตบังเกิดเพื่อเสมหะ
     เมื่อบังเกิดให้จับเป็นเวลาให้คอแห้งถึงทรวงอก ให้ปากแห้ง ฟันแห้ง ลิ้นเปื่อยแตกระแหง ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้เมื่อยทั้งตัว บริโภคอาหารไม่ได้ แน่นในลำคอเป็นกำลัง น้ำตาไหล
สันนิบาตบังเกิดเพื่อวาตะ
     เมื่อบังเกิดทำให้จับแน่นิ่งไป ครั้นแก้ฟื้นขึ้นมา ก็ให้ชักเท้ากำมือกำ ให้สะทกไปทั่วทั้งตัว ให้หน้ามืด ให้ตัวเย็น มือเท้าเย็น ร้อนในอกเป็นกำลัง ขัดอุจจาระ ปัสสาวะ ให้ผูกเป็นพรรดึก
สันนิบาตบังเกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิต
     เมื่อบังเกิดให้เจ็บตั้งแต่รากขวัญลงมาถึงใบหู แล้วเข้าจับเอาแก้วตา ทำให้ตามืด และพิษนั้นจึงแล่นเข้าจับเอาดวงหทัย บางคนสลบไปดุจตาย บางคนให้จับมือเท้าโลดโผนโจนไป บางคนจับให้แน่นิ่งไป เรียกไม่ได้ยิน อ้าปากไม่ออก บางทีให้เขม่นไปทั่วทั้งตัว ให้ร้อนเป็นกำลัง บางทีจับให้เวียนศีรษะจนลุกไม่ได้
เบญจกาฬสันนิบาต 5 อย่าง
     อภิฆาตสันนิบาต, อภิวาราภัยสันนิบาต, อภิสังคสันนิบาต อาคันตุกสันนิบาต, วิสมสันนิบาต แต่ละอย่างมีลักษณะอาการ ดังนี้
     1). อภิฆาตสันนิบาต บังเกิดด้วยอำนาจผู้อื่นเบียดเบียน มีทุบถองโบยตี เป็นต้น จึงมีอาการให้ปวดศีรษะดังต้องพิษอันใดอันหนึ่ง มักให้ลงท้อง บริโภคอาหารไม่ได้ และมักโกรธ ให้กระหายน้ำให้เสียดไปทั้งตัว มักให้สลบ
     2). อภิวาราภัยสันนิบาต บังเกิดด้วยความเพียรกระทำการงาน และทรมานร่างกาย มิวายเวลาหาความสุขมิได้เป็นต้น จึงมีอาการกระทำให้ขลาด ให้เจรจาผิด ให้ทุกข์โศก และให้บังเกิดซึ่งความโกรธได้ มักให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว กระทำดุจปีศาจเข้าสิง มักให้คลั่ง ให้กลัวคนให้ใหลหลง และให้กระหายน้ำเป็นกำลัง
     3). อภิสังคสันนิบาต บังเกิดด้วยขัดแค้นเคืองขุ่นอันใดอันหนึ่ง และให้เจ็บช้ำน้ำใจ แล้วอาเจียนเป็นโลหิตออกมา มีอาการกระทำให้ขบศีรษะเสียดแทงไปทั้งตัว ให้สลบไปใจจะขาด ถ้าได้กลิ่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักให้ร้อนทุรนทุรายยิ่งนัก
     4). วิสมสันนิบาต บังเกิดด้วยบริโภคอาหารที่มีพิษ และถูกต้องสิ่งของอันมีพิษ เป็นอชินโรค กล่าวคือ ผิดสำแดง อนึ่ง ประพฤติอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน คือแปลกถิ่นที่ดิน และที่นอน เป็นต้น จึงมีอาการกระทำให้บังเกิดอาการเช่นนั้น อนึ่งเกิดแก่เสพเบญจกามคุณ มักให้จิตใจฟุ้งซ่าน ให้สะอึกสะอื้น ให้ครั่นกาย ให้บริโภคอาหารมิได้ ท่านจึงกำหนดไว้ว่าเป็น วิสมสันนิบาต
     5). อาคันตุกสันนิบาต ว่าด้วยลักษณะสันนิบาตอันบังเกิดในที่สุด กำหนดแห่งสมุฏฐาน คือ 29 ราตรี ยังไปไม่ได้สำเร็จ และสมุฏฐานโรคนั้นจึงเจือระคนมา จึงได้นามว่าสันนิบาต ขอให้ไปดูในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยได้
สันนิบาตบังเกิดในกองสมุฏฐาน 4 ประการ ได้แก่
1). สันนิบาตเกิดเพื่อปิตตะสมุฏฐาน
2). สันนิบาตเกิดเพื่อเสมหะสมุฏฐาน
3). สันนิบาตเกิดเพื่อวาตะสมุฏฐาน
4). สันนิบาตเกิดเพื่อโลหิตสมุฏฐาน มีดังนี้
สันนิบาตเกิดเพื่อปิตตะสมุฏฐานมี 4 อย่าง คือ

เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีซึม ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้ซึมไป หาสติสมปฤดีมิได้ ให้อิ่มไป ไม่อยากกินอาหาร สะบัดร้อนสะท้านหนาว
เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีพลุ่ง ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้คลั่งเป็นคราวๆ บางทีให้กล้า บางทีให้ขลาด ทำให้แน่นอกเป็นกำลัง ให้คอแห้ง ลำคอตีบ กินข้าวกินน้ำไม่ได้ ให้อาเจียน สวิงสวาย ให้พลุ่งขึ้นพลุ่งลงในอก ให้ยกมือยกเท้าขวักไขว่ไปมา
เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีล้น ลักษณะอาการสันนิบาตเกิดเพื่อ (เพราะ) ดีล้น เมื่อบังเกิดมักให้โลดโผนไปทั้งตัว เห็นหน้าคน และสิ่งใดไม่ได้ ได้ยินได้ฟังสำเนียงอันใดก็ไม่ได้ สมมุติว่าต้องลมเพลมพัดก็ว่า มีปีศาจเข้าสิง ก็ว่า ไม่อยากอาหาร คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำลายเหนียว มือเย็นเท้าเย็นแต่ตัวร้อน
เกิดเพื่อ (เพราะ) ดีรั่ว ลักษณะอาการเมื่อบังเกิดกระทำให้ลงดุจกินยารุ มูลเหลือง ดุจน้ำขมิ้นสด ให้เคลิบเคลิ้มไป หาสติมิได้ ให้หิวโหย บริโภคอาหารไม่อยู่ท้อง สวิงสวาย แน่นหน้าอกเป็นกำลัง และท้องลั่นอยู่เป็นนิจไม่ได้ขาด
ลักษณะอภิญญาณธาตุ 4 มีดังนี้

ลักษณะชาติธาตุปถวี คือ ชาติธาตุปถวี กำเริบ หย่อน พิการ มีอาการกระทำให้เสมหะเน่า ให้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ให้เสียดแทง และแปรเป็นอัมพฤกษ์ เป็นโรคกระษัย เป็นป้าง ให้เนื้อช้ำใน เล็บมือเล็บเท้าเขียว ให้โลหิตตกทวารหนักทวารเบา กินอาหารไม่อยู่ท้อง โทษทั้งนี้ เกิดแต่กองปถวีธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ
ลักษณะชาติธาตุอาโป คือ อาโปธาตุ กำเริบ หย่อน พิการ มีอาการให้ลงท้อง เจ็บหน้าอก แปรเป็นกร่อน ขัดอุจจาระปัสสาวะ นอนไม่หลับ เป็นพรรดึกกลิ้งขึ้นกลิ้งลง ขัดสีข้าง ถ้าหญิงขัดซ้าย เยียวยายากนัก ถ้าแก้มิฟัง 7 วันตาย มีอาการแปรไปให้ขัดหัวเข่า และน่อง เท้าเย็นให้บังเกิดเสมหะกล้า ผอมแห้ง เจ็บอก ร้อนหน้าตาดังไข้จับ
ลักษณะชาติธาตุวาโย คือ วาโยธาตุ กำเริบ หย่อน พิการนั้น มีอาการกระทำให้หนักตา เป็นหิ่งห้อยกระจายออก ให้เมื่อยมือเมื่อยเท้า ให้เป็นตะคริว และลมจับโปง ให้ขัดหัวเข่า และเมื่อยสันหลัง ให้สองเกลียวคอนั้นแข็ง สมมุติว่าเป็นฝีเส้น มีอาเจียนลมเปล่า เจ็บอก ขัดในท้อง หนักตา
ลักษณะชาติธาตุเตโช คือเตโชธาตุ กำเริบ หย่อน พิการนั้น มีอาการกระทำให้ร้อยปลายมือปลายเท้า มีพิษเจ็บปวดดุจปลาดุกยัก แปรไปให้หลังมือบวม ให้ผื่นขึ้นทั่วสรรพางค์กาย เป็นดังผด และหัดให้เจ็บท้องให้ตกปุพโพโลหิต ให้มือเท้าตาย
ลักษณะอสุรินธัญญาณธาตุ 4 มีดังนี้
สมธาตุ ลักษณะอาการ สมธาตุยิ่งไปด้วยกองสรรพธาตุ มีอาการกระทำให้จับเป็นเวลา บางทีให้ตัวร้อน เท้าเย็น บางทีให้สวิงสวาย ให้เจ็บในอก บริโภคอาหารไม่รู้รส บางทีให้มึน ให้ทั้งโทษทั้งนี้ กล่าวคือ เสมหะสมุฏฐาน ปิตตะสมุฏฐาน และวาตะสมุฏฐาน ประชุมพร้อมกันในกองวีสติปถวี (กองธาตุดิน 20 อย่าง) ให้เป็นเหตุ
วิสมธาตุ ลักษณะอาการ วิสมธาตุยิ่งไปด้วยกองวาโยมีกำลัง คือ ทำให้ท้องลั่นอยู่เป็นนิจ บางวันให้ลง บางวันให้อยากอาหาร บางวันให้คับท้อง แน่นอกคับใจ เพลิงธาตุมิได้เสมอ วาโยเดินไม่สะดวก โทษทั้งนี้เกิดแต่กองฉกาลวาโย (กองธาตุลม 6 อย่าง) เป็นเหตุ
กติกธาตุ (ติกขธาตุ) ลักษณะอาการ กติกธาตุยิ่งไปด้วยสรรพิษทั้งปวง มีพิษดี พิษเสมหะ พิษลม เป็นอาทิพิษอันเศษเป็นที่สุด คือเพลิงธาตุนั้นแรง เผาอาหารฉับพลันยิ่งนัก กระทำให้จับเชื่อมมัว ทั้งกลางวันกลางคืน มิได้เว้นเวลา ให้ปวดศีรษะ ให้ผิวเนื้อแดง ตาแดงให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ ให้เป็นพรรดึก โทษทั้งนี้เกิดแต่กองจตุกาลเตโชธาตุ (กองธาตุไฟ 4 อย่าง) เป็นเหตุ
มันทธาตุ ลักษณะอาการ มันทธาตุนั้น ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง คือเพลิงธาตุนั้นหย่อนเผาอาหารมิได้ย่อย กระทำให้ลงไปวันละ 2 – 3 เวลา ให้สวิงสวาย ให้ถอยแรงยิ่งนัก กระทำให้ท้องขึ้นมิรู้วาย ให้อุจจาระเป็นเมือกมันเป็นเปลว หยาบ และละเอียดระคนกัน ให้ปวดมวนเป็นกำลัง โทษทั้งนี้เกิดในกองทวาทศอาโป (กองธาตุน้ำ 12 อย่าง) ให้เป็นเหตุ

คัมภีร์ไพจิตร์มหาวงศ์

คัมภีร์ไพจิตร์มหาวงศ์
ว่าด้วยลักษณะ และประเภทต่างๆ ของฝี 2 ชนิด 4 ประเภท

1. ลักษณะฝียอดเดียวชนิดหงาย ประเภทที่ 1
จะมีอาการ และประเภทต่างกัน บางทีทำให้ร้อน ทำให้หนาว บางทีกระทำให้คลุ้มคลั่งหาสติมิได้ ให้ขนลุกขนชัน ให้เนื้อเต้น ให้ตา แดงเป็นสายโลหิต

2. ลักษณะฝียอดเดียวชนิดหงาย ประเภทที่ 2
ถ้าบังเกิดขึ้นในเดือน 5 – 6 – 7 – 8 – 9 – 10 เกิดเพื่อ (เพราะ) ดี ลม เสมหะระคนกัน มักจะขึ้นในคอ และนอกคอก็มี เกิดในต้นคางก็มี กกหู รักแร้ ไหล่ อก ก็ดี ขึ้นข้างซ้ายตัวเมีย ขึ้นข้างขวาตัวผู้ ถ้าน้ำแดงเกิดเพื่อ (เพราะ) ดี และโลหิต ถ้าน้ำขาวเกิดเพื่อเสมหะ ซึ่งมีอาการ และประเภทต่างๆ กัน

3. ลักษณะฝียอดเดียวคว่ำ ประเภทที่ 1
มีอาการ และประเภทต่างๆ กัน บางทีให้จับเชื่อมมึน บางทีให้ร้อนกระหายน้ำ หอบ สะอึก บางทีให้จุกเสียด บางทีให้ชัก มือกำเท้ากำ มือสั่น บางทีให้ปวดแสบปวดร้อน เป็นกำลัง

4. ลักษณะฝียอดเดียวคว่ำ ประเภทที่ 2
ถ้าบังเกิดในเดือน 11 – 12 – 1 – 2 – 3 – 4 คือบังเกิดเพื่อ (เพราะ) ลม น้ำเหลือง กำเดาระคนกัน มักขึ้นกระหม่อม ลำตัว สันหลัง ขึ้นขาทั้ง 2 ก็ดี ขึ้นใต้ ศอก รักแร้ ไหล่ทั้ง 2 ก็ดี เป็นผื่นขึ้น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มีอาการ และประเภทต่างๆกัน

คัมภีร์ทิพย์มาลา

คัมภีร์ทิพย์มาลา
กล่าวถึงลักษณะฝี (วัณโรค)
ลักษณะวัณโรคอันพึงเกิดภายในนั้น เกิดเพื่อ (เพราะ) จตุธาตุ และตรีสมุฎฐานอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะวิปริตเป็นชาตะ จะละนะ โดยหย่อนพิการ ระคนกันเข้า แล้ว ตั้งต่อมชั้น มีประเภทต่างๆ ให้บุคคลทั้งหลาย ทั้งเรียนรู้ไปเบื้องหน้า ซึ่งแต่ละอย่างมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้1. ฝีปลวก
มีอาการให้เจ็บในทรวงอกที่ตั้งแห่งหัวใจ ตลอดไปตามสันหลัง ให้ผอมเหลือง ให้อาเจียนเป็นโลหิต ไอเหม็นคาวคอ บริโภคอาหารไม่ ได้ นอนไม่หลับ

2. ฝีวัณโรค ชื่อ กุตะณะราช
แรกเป็นอาการให้แน่นในทรวงอกกลางคืน กระทำพิษให้จับไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาวไปทั้งตัว บริโภคอาหาร ไม่ได้ นอนไม่หลับ
3. ฝีวัณโรค ชื่อ มานทรวง
แรกเป็น มีอาการให้ยอกเสียด หายใจขัดในทรวงอก เจ็บหน้าอก ทั้งกลางวัน และกลางคืน ไอเป็นเสมหะเหนียว ซูบผอม ให้แน่นหน้าอกเป็นกำลัง

4. ฝีวัณโรค ชื่อ ธนูธรวาต
แรกเป็นมีอาการให้เจ็บหน้าอกตลอดสันหลัง ให้ปวดขบเป็นกำลัง ปวดเมื่อยไปทุกข้อทุกกระดูก ให้วิงเวียน บางทีทำให้ขัดอุจจาระ และปัสสาวะ ให้ท้องขึ้นไม่รู้วาย ให้ยอกจุกเสียดยอดอก ซูบผอม บริโภคอาหารไม่มีรส ให้ตาแข็งนอนไม่หลับ ให้ปวดกลางคืนมากกว่ากลางวัน มีพิษต่างๆ

5. ฝีวัณโรค ชื่อ ฝีรากชอน
แรกเป็นมีอาการให้บวมเป็นลำขึ้นไปตามเกลียวปัตคาด ให้จับเป็นไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้ขนลุกชันทุกขุม ให้ตัวแข็งกระด้างจะลุกจะนั่งให้ยอก ให้เสียดไหวตัวไม่ได้

6. ฝีวัณโรค ชื่อ ฝียอดคว่ำ
เมื่อแรกเป็นมีอาการให้ปวดอยู่ท้องน้อยลงไปถึงทวารหนัก ให้ปวด ไปถึงหน้าตะโพก ให้เจ็บเป็นบางเวลา เป็นไข้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว ให้ปวดแต่กลางคืน กลางวันปวดเล็กน้อย กระทำพิษต่างๆ

7. ฝีรวงผึ้ง
เมื่อจะบังเกิดกระทำให้แน่นชายตับเบื้องขวา ให้ยอกตลอดสันหลัง ให้ตัวเหลือง หน้าเหลือง ตาเหลืองดังขมิ้น ปัสสาวะเหลืองดุจน้ำกรัก ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้มึนตึง ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก ให้อิ่มด้วยลม บริโภคอาหารมิได้

8. ฝีมะเร็งทรวง
เมื่อจะบังเกิด กระทำให้เป็นมูกเลือดหลายครั้งหลายหน ดุจเป็นบิด แล้วก็หายไป อยู่ๆ ก็กลับเป็นมาอีก ให้ปวดขบ ยอกเสียด จุกแดก แน่นหน้าอกเป็นกำลัง ให้ยอกตลอดสันหลัง ให้วิงเวียน ให้ไอ ให้หอบ หิวหาแรงมิได้ ซูบผอม มักให้ครั่นตัว ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก

9. ฝีธรสูตร
เมื่อจะบังเกิดทำให้เจ็บปวดสันหลัง ให้เมื่อย ให้จุกแดกเป็นกำลัง ให้เสียดในอุทร ให้ซูบผอม บริโภคอาหารมิได้

10. ฝีธนูทวน
เมื่อบังเกิดทำให้ฟกบวมตามเส้นสัณฑะฆาต ให้ตึงท้อง ตลอดสันหลังให้สันหลังแข็ง ลุกนั่งไม่ได้ ให้ยอกเสียดเป็นกำลัง ให้ระบมไปทั่วทั้งท้อง ให้ท้องบวม ใหญ่ขึ้น

11. ฝีสุวรรณเศียร
เมื่อจะบังเกิดแต่สมองกระดูกพิการ ตั้งขึ้นดุจจอกหูหนู มีสีเหลือง มีรากหยั่งถึงหัวใจ มีอาการทำให้เมื่อยต้นคอ ให้เจ็บถึงกระหม่อม ให้จักษุมืด ให้โสตประสาทตึง ให้ปวดศีรษะดังจะแตก ให้เจ็บทุกเส้นขน ให้ร้อนในกระหม่อม และกระบอกจักษุ และช่องโสตประสาท ถ้าตั้งหนองขึ้นแล้ว กระทำพิษให้กลุ้มดวงหทัย ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้คลั่งไม่ได้สติสมปฤดี เมื่อหนองจะแตกนั้น บางทีออกมาทางจักษุ ทั้งสอง บางทีออกทางช่องโสตทั้งสอง ุถ้าออกมาทางช่องอันใด ช่องอันนั้นก็พิการ

12. ฝีชื่อ ทันตะกุฏฐัง
บังเกิดในกราม ถ้าบังเกิดขึ้นกรามซ้าย ชื่อทันตะมุนลัง ถ้าขึ้นข้างขวา ชื่อ ทันตะกุฎฐัง อาการเหมือนกัน คือเมื่อแรกตั้ง มีสัณฐานดังเมล็ดข้าวโพด มีสีแดง เหลืองเหมือนลูกหว้า บางทีแข็งดุจเม็ดหูด ร้ายนัก เมื่อแตกออก มีสัณฐานดังดอกลำโพง แล้วเปื่อยตามเข้าไปถึงลำคอ มีน้ำเหลืองมากกว่าหนอง มีพิษกล้ายิ่งนัก ทำให้ปวดตั้งแต่ต้นคางไปถึงกระหม่อม ฟกบวมออกมาภายนอก ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว บริโภคอาหารไม่ได้แพทย์ไม่รู้นึกว่ามะเร็งรำมะนาด ตายเสียเป็นอันมาก

13. ฝีทันตะมูลา 
บังเกิดแก้มซ้าย และแก้มขวา เมื่อแรกนั้นดูอาการ และประเภทเหมือนปูนกัดปาก ดูสัณฐานดังฉะลุกะ (ปลิง) เข้าเกาะจับอยู่ตามกระทุ้งแก้ม มีสีแดงดังสีเสนอ่อน อาการให้แสบร้อนในกระพุ้งแก้ม แล้วให้แก้มนั้นเหน็บชา บางทีให้ฟกบวมออกมา ภายนอกมียอดบานเหมือนดอกลำโพง เป็นหนอง 1 ส่วน น้ำเหลือง 2 ส่วน ถ้าผู้ใดเป็นเข้า ถือว่าเป็นกรรม เป็นอสาทิยะโรค

14. ฝีราหูกลืนจันทร์
บังเกิดใต้ต้นลิ้น มีสัณฐานดังดวงพระจันทร์ ต่ออ้าปากออกถึงเห็นครึ่งหนึ่ง ลับเข้าอยู่ในลำคอไม่เห็นครึ่งหนึ่งทำให้ฟกบวมในลำคอเป็นกำลัง บริโภคข้าวน้ำมักให้สำลักขึ้นไปในนาสิก (จมูก) ทุกที ถ้าแก่ขึ้นให้แดงดังผล อุทุมพรสุก ให้มีพิษเจ็บยิ่งนัก จับสะบัดร้อนสะท้าน หนาว เจรจาไม่ค่อยจะได้ มีหนอง และน้ำเหลือง เท่ากัน เป็นอติสัยโรค

15. ฝีฟองสมุทร
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) วาโยโลหิตระคนกัน ขึ้นในคอ ต้นขากรรไกร แรกขึ้นมีสัณฐานดังหลังเบี้ย ถ้าขึ้นขวาตัวผู้ ขึ้นซ้ายตัวเมีย กระทำให้เจ็บในลำคอเป็นกำลัง จะกลืนข้าวกลืนน้ำไม่ได้ ให้เจ็บปวดดังจะขาดใจตาย ถ้ายาถูกก็เคลื่อนหายไป ถ้ายาไม่ถูกก็จำเริญขึ้นเป็นหนอง ทำพิษให้สะบัดร้อนสะท้านหนาวดุจไข้จับ ให้เซื่อมมัว ให้ร้อนศีรษะตลอดปลายเท้า แต่ไม่เหมือนไข้ หรือสันนิบาต ให้ทุรนทุรายไป จนกว่าหนองจะแตก วัณโรคฟองสมุทรนี้ เป็นยาปะยะโรค ( รักษาได้ไม่ตาย)

16. ฝีครีบกรต
บังเกิดตามครีบชิวหา เมื่อแรกขึ้นมีสัณฐานเท่าเมล็ดถั่วเขียว และเมล็ดงา แข็งขึ้นมาเหมือนหัวหูด แล้วเจริญขึ้นมีสีแดงดังชาดจิ้ม อาการทำให้ลิ้นกระด้าง ให้เจ็บๆ คันๆ และเร่งเกลื่อนเสียแต่ยังอ่อน อย่าปล่อยไว้ให้ยอดแตกออกมาได้ ถ้าเจริญแก่เข้าแล้ว ก็แตกออกเปื่อยลาม เป็นขุมๆ มีประเภทเหมือนวงสะท้อน ลามไปในชิวหาพื้นบน และล่าง บางทีบวมทะลุลงไปใต้คาง เป็นหนอง และโลหิตไหลมิได้ขาด เหม็นเหมือน ซากศพ ถ้าใครเป็นถือว่าเป็นกรรม

17. ฝีอุรัคคะวาต (อุระคะวาตา)
เกิดขึ้นตามกระดูกสันหลังข้างใน บางทีขึ้นตรงกระดูก บางทีขึ้นระหว่างกระดูก ตั้งแต่เบื้องบนถึงที่สุดแห่งกระดูกสันหลัง ข้างในเบื้องต่ำ เมื่อจะเกิดขึ้นนั้น เหตุด้วยลมสุนทรวาตพัดเตโชธาตุ และอาโปธาตุ มิได้เสมอตามปกติ จึงบังเกิดวิทราธิโรคขึ้น ให้จำเริญไปถึงวรรณะ มีประเภทกระทำพิษต่างๆ บางทีให้จุกเสียด บางทีให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ บางทีให้ลงดุจเป็นบิด มีเสมหะ โลหิตระคนกัน ให้ปวดมวนเป็นกำลัง เป็น อย่างนี้ 2-3 ครั้ง แล้วก็หายไป ให้เจ็บในอก และชายสะบัก จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้นอนไม่หลับ บริโภคอาหารไม่ได้ ให้ตาแดงเป็นสายโลหิต บางทีให้บวมตั้งแต่ไหล่ถีงเอว ให้ร้อนเป็นกำลัง ให้เจ็บ ทุกข้อทุกกระดูกสันหลังข้างนอก รู้ไม่ถึง ย่อมเสียเป็นอันมาก ให้รักษาแต่ยังอ่อน

18. ฝีอัคนีสันทวาต
บังเกิดจากต้นขั้วกระเพาะปัสสาวะข้างใน เพราะแม่ซางขึ้นประจำอยู่ในกระเพาะเบา แพทย์รักษาไม่หายสนิทตั้งแต่ยังเป็นกุมาร เมื่อเจริญเติบโตขึ้นวาโยพัดขับปัสสาวะไม่สะดวก จึงตั้งเป็นยอดขึ้น บางทีเป็นด้วยล้มกระทบฟกช้ำ และบวมขึ้น วัณโรคจึงบังเกิดขึ้น วัณโรคนี้เกิดแต่กองปถวี และวาโยระคนกัน มีประเภทการกระทำนั้น ต่างกันคือ

1). ฟกบวมออกมาจากภายนอก แข็งเป็นดานตามฝีเย็บ มักให้บวม เป็นกำลัง ให้ปัสสาวะหยดย้อย

2). เป็นหนอง และโลหิตไหลออกมาทางท่อปัสสาวะ3). แดงออกมาภายนอกดุจผลมะไฟ แล้วแตกออกเป็นหนอง และโลหิตก็มี
4). น้ำปัสสาวะเดินทางช่องแผลก็มี

5). ปัสสาวะขัดเป็นลิ่มเป็นก้อนก็มี รักษายาก

19. ฝีดาวดาษฟ้า
คือน้ำลาย น้ำเสมหะ น้ำโลหิตทั้ง 3 พิการ ระคนกัน เข้าจึงบังเกิดเป็นเม็ดยอดขึ้นภายในทั่วไป ทั้งตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ทั้งปวง และวัณโรคอันนี้ เกิดเป็นอุปปาติกะ บังเกิดด้วยอาโปธาตุ จะตั้งขึ้นที่ใด ก็ให้เจ็บที่นั่น ดุจไม้ยอกหอกปัก ถ้ามิฉะนั้นดุจตะขาบ แมลงป่องขบกัด และจะให้ฟกบวมขึ้นมาภายนอกนั้นหามิได้ มีอาการให้จับเซื่อมมัว สะบัดร้อนสะบัดหนาว ผอมเหลือง ถ้านานเข้าจะให้จุกแน่นหน้าอก ให้อาเจียนน้ำลายเหนียว หอบ สะอึกให้บวมเท้า ให้ลงเป็นหนอง และโลหิตเน่าให้ปวดบวม เป็นกำลัง รักษายากนัก

คัมภีร์มุขโรค

คัมภีร์มุขโรค
คัมภีร์มุขโรค เป็นโรคที่เกิดในปากในคอ ท่านว่าเป็นเพราะโลหิต มี 19 ประการดังนี้
ทานะสา ใต้ลิ้นงอก ขึ้นมาเหมือนเดือยไก่
มังสะ กลางลิ้นดันลิ้นขึ้นมาอย่างหนามขนุน
กาละมังสะ ลิ้นโตมันสีเขียวอยู่
จะละมังสะ ในคางขึ้นเหมือนลิ้นไก่
ยาโตมังสะ ขึ้นในลิ้นสองข้างเหมือนงาช้าง งอกออกมา
กัสมังสะ ในลิ้นงอกขึ้นมาเหมือนหน้าวัวงอกออกมาแหลมอยู่
กะนะระมังสะ ลิ้นโตเขื่องเป็นขุมอยู่ทั้งลิ้น หรือลิ้นโตเต็มปากเปื่อยเป็นขุมอยู่ทั้งสิ้น
มุกจามังสะ บวมอยู่ ลิ้นบวมอยู่
มุกขะโจมังสะ ผุดขึ้นลิ้นเขียวเหมือนเมล็ดข้าว
ทันตะโจมังสะ ในลำคอตีบอยู่เหมือนใยแมงมุม
ทันตะมูมังสะ ในลิ้นขาว เหม็นเป็นหนอง เลือดออกบ่อยๆ
ทันตะโรสะ ในต้นฟันขาวอยู่
สาภริ ในต้นฟันขึ้นมาเป็นเหมือนฝาหอยแครง
สาวาระ ฝาดในปาก ในลิ้น ในคอ
กัปปิ บวมขึ้นในคอ
กัปโป บวมทั้งคอ
ทันตะบุปผา บวมออกมาทั้งสองข้างในลำคอเหมือนเมล็ดข้าวโพด เป็นอย่างงวงช้าง เป็นตออยู่ที่ลำคอ
กาละมุขะ ลิ้นดำอยู่
มุขวามังสะ เป็นเม็ดใส
โรคเกิดในปากในคอ ตามที่กล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นเพื่อ (เพราะ) โลหิต
ให้แต่งยาแก้ดังนี้ :-
ยาแก้โรคในปากในคอ
ส่วนประกอบ  พิษนาศน์  โกฐจุฬาลัมพา  ข่าตาแดง  เจตพังคี  รากแตงนก  โกฐสอ โกฐกระดูก ลูกสมี เมล็ดมะกล่ำตาช้าง ดอกจันทน์ การบูร
วิธีทำ ใช้ส่วนเสมอภาค บดเป็นผงแล้วแล้วเอาเถาหญ้านาง หญ้างวงช้าง หัวกล้วยตีบ กาฝากมะม่วง เผาแช่เอาน้ำด่าง ต้มให้น้ำด่างสุก แล้วเอายาผงใส่ลงในน้ำด่าง อย่าให้ไหม้ ต้มแต่พอปั้นได้ ปั้นเท่าเม็ดพริกไทย แทรกชะมด พิมเสน
วิธีใช้ ให้กินกับหมาก แก้โรคในคอในปากหายแล

คัมภีร์อุทรโรค

คัมภีร์อุทรโรค
ว่าด้วยมาน 18 ประการ

มาน เกิดขึ้นได้โดยอนุโลมตามธาตุวิปริต ในกองสมุฎฐานให้เป็นเหตุ  กระทำให้ท้องนั้นใหญ่สมมุติเรียกว่า “มาน”  มานมี 18 ประการ ดังนี้
1. มานน้ำ มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานน้ำ บังเกิดด้วยโลหิต น้ำเหลืองระคนกัน ซึมซาบไปในลำไส้
    2) มานน้ำ บังเกิดด้วยลำไส้ปริ น้ำเหลืองไหลซึมออกมาขังอญู่ในท้อง
    3) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซึมซาบซ่านไปในชิ้นเนื้อ และขุมขน
    4) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลือง ซ่านเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ และมดลูก

2. มานลม มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานลม บังเกิดแต่กองอโธคมาวาตา
    2) มานลม บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา
    3) มานลม บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาตา
    4) มานลม บังเกิดแต่กองโกฏฐาสยาวาตา

3. มานหิน มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานหิน บังเกิดแต่กองอโธคมาวาตา อัมพาต มุตตะฆาต ระคนกัน
    2) มานหิน บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา อัณฑะพฤกษ์ สัณฑะฆาต ระคนกัน
    3) มานหิน บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาตา อัมพาต ปัตตะฆาต ระคนกัน
    4) มานหิน บังเกิดแต่กองโกฏฐาสยาวาตา อ้ณฑะพฤกษ์ รัตตะฆาต ระคนกัน

4. มานโลหิต มี 4 ประการ ดังนี้
    1) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูขัด ระคนด้วยอังคมังคานุสารีวาตา
    2) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูไม่ได้เดินเป็นปกติ ระคนด้วยวาโยพิการ
    3) มานโลหิต บังเกิดแต่โลหิตเน่า ระคนด้วยระดุร้าง โลหิตคลอดบุตร ต้องพิฆาต พลัดตกหกล้ม
    4) มานโลหิต บังเกิดแต่โลหิตจาง ทำให้บวม วิงเวียน หน้ามืด ตามัว 

5. มานเกิดแต่ดาน มี 2 ประการ ดังนี้
    1) มานทักขิณมาน เกิดแต่กองดานทักขิณคุณ กำเนิดตั้งอยู่ฝ่ายขวา
    2) มานอุตรามาน เกิดแต่กองดานอุตราคุณ กำเนิดตั้งอยู่ฝ่ายซ้าย

ลักษณะอาการของมานต่างๆ มีดังนี้

1. มานน้ำ 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ

    1) มานน้ำ บังเกิดด้วยโลหิต น้ำเหลือง ระคนกัน ซึมซาบไปตามลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ มีอาการ
ทำให้ลำไส้นั้นพองขึ้นแน่นเข้าไปในท้อง บริโภคอาหารไม่ได้ ให้อิ่มไปด้วยลม และน้ำเหลืองเป็นกำลัง แล้วให้ท้องใหญ่ขึ้น จะลุกนั่งก็ไม่ได้ ให้เหนื่อย หอบ

    2) มานน้ำ บังเกิดด้วยลำไส้ปริน้ำเหลืองไหลซึมออกมาขังอยู่ในท้อง มีอาการกระทำให้ขัดอุจจาระ ให้อุจจาระเดินไม่ปกติ โดยกำลังคูถทวารปิด แล้วให้เสียดแทงลำคอ กระทำนวดเฟ้นจึงลั่น ผายลมไม่สะดวก ต่อเมื่อรับประทานยาถ่ายจึงคลายลง แล้วกลับเป็นใหม่อีกสองครั้งสามครั้ง โรคนั้นทวีขึ้น ท้องนั้นใหญ่ออกมา นานเข้ากระทำให้ซูบผอม หาโลหิตไม่ได้ กินอาหารไม่รู้รส นอนไม่หลับ

    3) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซึมซาบไปในชิ้นเนื้อ และขุมขน มีอาการกระทำให้บวมขึ้นทั้งตัว แต่เป็นบั้นเป็นท่อน ครั้นถ่ายยาทายาลงไป ก็ยุบแล้วกลับเป็นมากกว่าเดิม เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้าจะนั่งไม่ได้ จะนอนราบลงก็ไม่ได้ ได้แต่นอนคดงอจึงค่อยสบาย แล้วบวมขึ้นไปทั่วตัวดังเนื้อจะปริแตกออกจากกัน ผิวหนังใสซีด ไม่มีโลหิต จะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดก็ไม่ได้ นอนซมอยู่ดังศพขึ้นพองสมมุติว่า “มานทะลุน”

    4) มานน้ำ บังเกิดด้วยน้ำเหลืองซ่านเข้าไปขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และมดลูก มีอาการกระทำให้น้ำเหลืองนั้นซ่าน และขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ให้ขัดปัสสาวะ แต่ไม่ขัดเหมือนปะระเมหะ เป็นแต่ปัสสาวะไม่สะดวก ไม่มีฟอง และน้อยไป มีสีต่างๆ กัน บางทีสีเหลือง ขาว แดง ดำ กำหนดแน่นอนไม่ได้ นานเข้ากระเพาะปัสสาวะเบ่งออกมา เวลาเหงื่ออกเสียวไปทั่วร่างกาย สะบัดร้อนสะท้านหนาว ร่างกายซูบซีด ผอม ไอ อาเจียนออกแต่น้ำลาย รับประทานอาหารไม่ได้ อุจจาระไม่ปกติ

       มานน้ำทั้ง 4 ประการ เกิดแต่กองเตโชธาตุ เป็นมันทธาตุ ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง คือไฟธาตุหย่อน อาหารไม่ย่อย ลงไปวันละ 2 – 3 เวลา สวิงสวายใจสั่น ไม่มีเรี่ยวแรง กระทำให้ท้องขึ้นอยู่เสมอๆ อุจจาระเป็นเมือกมัน เป็นเปลว หยาบ ละเอียด ปวดมวน โทษทั้งนี้เกิดแต่กองอาโปธาตุ 12 ประการเป็นเหตุ

2. มานลม 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ

    1) มานลม บังเกิดแต่กองอโธคมาวาต อาการกระทำให้ลมนั้นตั้งอยู่ในท้อง ไม่พัดลงไปตามปกติ ให้ผะอืดผะอม และทำให้ท้องขึ้นอยู่เสมอ บางทีจุก บางทีแน่นไปทั่วท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ อิ่มไปด้วยลม ผายลมไม่สะดวก ท้องผูกเป็นพรรดึกด้วยลมกองนี้กระทำ จึงให้ท้องใหญ่ขึ้น พอสังเกตุตั้งอยู่ใต้สะดือ 2 นิ้ว ครั้นลดลงก็กระจายออกแล้วกลับแข็งเข้าอีก ลอยขึ้นมาทับเส้นอัณฑพฤกษ์อยู่ ลมนั้นจึงพัดกล้าขึ้น ให้ท้องนั้นใหญ่ออก แล้วแข็งดังกล่าวมาแล้ว

    2) มานลม บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาต อาการกระทำให้ลมนั้นคั่งค้างอยู่ในท้อง ไม่ได้พัดขึ้นไปตามปกติ แน่นหน้าอก รับประทานอาหารไม่ได้ เรอไม่ออก ผายลมไม่สะดวก อุจจาระผูก ลมนั้นกล้าพ้ดเตโชให้กำเริบ จึงแน่นไปทั่วท้อง  ลมกองนี้ตั้งอยู่เหนือสะดือ 2 นิ้ว แข็งดุจแผ่นกระดาน ทับอยู่บนเส้นอัณฑพฤกษ์ ระคนด้วยลมอุทรวาต จึงพัดให้ท้องใหญ่ขึ้น ท้องเต็มไปด้วยลม และใหญ่กว่าปกติ

    3) มานลม บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาต อาการลมกองนี้พัดอยู่ในท้อง ระคนเข้ากับลมอุทรวาต ก็พลอยกำเริบขึ้น ไม่ได้พัดลงไปสู่ทวาร ทวารจึงไม่ได้เปิด อุจจาระก็ไม่เดินเป็นปกติ ถ้ารับประทานยาก็เดินโดยกำลังยา ครั้นคุมเข้าก็ทำให้แน่นอืดเฟ้อ ถ้าถ่ายไปก็ค่อยสบายแล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง ท้องใหญ่ขึ้น โดยกำลังวาโยกล้า พัดเตโชธาตุให้ดับเสีย กระทำให้ท้องขึ้นอยู่เป็นนิจ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยมากรับประทานอาหารมักให้คลื่นเหียน อาเจียน เวลาเช้าท้องค่อยหย่อนลง สบายจนไปถึงเที่ยงวัน เวลาบ่ายท้องนั้นขึ้นไปจนถึงย่ำรุ่ง หาความสุขไม่ได้

    4) มานลม บังเกิดแต่กองโกฎฐาสยาวาต อาการลมกองนี้พัดอยู่ในลำไส้น้อย และลำไส้ใหญ่ เมื่อจะเกิดโทษระคนกันเข้ากับลมอุทรวาต ก็พลอยกันกำเริบพัดไม่มีกำหนด ลำไส้นั้นก็พองขึ้น ดุจบุคคลเป่าลูกโป่งก็พองขึ้นเต็มไปด้วยลม กระทำให้ผะอืดผะอมถ่ายอุจจาระไม่ได้ โทษอันนี้คือลมโกฏฐาสยาวาตาไม่ได้พัดอุจจาระสู่คูถทวาร ทวารก็ไม่ได้เปิด อุจจาระจึงเดินไม่ปกติ ทำให้จุกแน่นไปทั้งท้อง สะบัดร้อนสะบัดหนาว โดยลมนั้นกระทำพิษ

3. มานหิน 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ

    1) มานหิน บังเกิดแต่กองอโธคมาวาตา อัมพาต มุตตะฆาตระคนกัน
อาการ คือ ลมอโธคมาวาตาพัดขึ้นตามเกลียวอัมพาต เกลียวมุตตะฆาตนั้นกล้าเหลือกำหนด ทำให้เส้นนั้นพองแข็งเข้าติดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยันขึ้นไปถึงยอดอก ทำให้แน่นหน้าอกเป็นกำลัง ทำให้หนังท้องนั้นใหญ่ขึ้นโดยอำนาจเส้นตึงแข็งติดกันเข้าดุจทำนบกั้นน้ำ คือ กั้นไม่ให้ลมตกลงได้สะดวก

    2) มานหิน บังเกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา อัมพฤกษ์ สัณฑะฆาตระคนกัน อาการ คือ ลมอุทธังคมาวาตาพัดลงมานั้นกล้าเหลือกำลังยิ่งนัก และขังอยู่ในเกลียวอัณฑพฤกษ์ และสัณฑะฆาตนั้นก็พลอยกำเริบแข็งตัวตึงกล้าขึ้นติดเป็นแผ่นอันเดียวกัน แล้วขึ้นไปยันหน้าอกด้านซ้าย แข็งดังท่อนเหล็ก แน่นในทรวงอกมาก ท้องนั้นก็ใหญ่ขึ้นโดยกำลังลม ถ้าได้บีบนวดจึงคลายลงบ้าง

    3) มานหิน บังเกิดแต่กองกุจฉิสยาวาตา อัมพาต ปัตคาตระคนกัน
อาการ คือ ลมกุจฉิสยาวาตากำเริบขึ้นในท้องกล้ายิ่งนัก ไม่ได้พัดลงตามช่องทวาร จึงทำให้เป็นอัมพาตปัตคาต เป็นเถาเป็นดานแข็ง โดยอำนาจของลมเดินในลำไส้นั้นกล้า เส้นนั้นก็พองติดกับชายโครงด้านขวา กระทำให้เจ็บอยู่ 2 – 3 วัน แล้วหายไปโดยกำลังพิษวาโยกระทำ

    4) มานหิน บังเกิดแต่กองโกฎฐาสยาวาตา อัมพฤกษ์ รัตฆาตระคนกัน อาการ คือ 
ลมโกฎฐาสยาวาตา พัดในลำไส้น้อยกล้ายิ่งนัก กระทำให้ลำไส้พองขึ้นทับอัณฑพฤกษ์ รัตฆาตนั้น จึงลงไปแขวนติดกระดูกสันหลังอยู่ยันลงมาถึงท้องน้อย ให้ตึงหัวเหน่ามาก แล้วตั้งเป็นก้อนแข็งใหญ่ขึ้น มีอาการให้ถ่วงท้องน้อย ยอกสันหลัง และหน้าตะโพก 

4. มานโลหิต 4 ประการ มีลักษณะอาการ คือ

    1) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูขัดไม่ได้มาตามปกติ ระคนด้วยลมอังคมังคานุสารีวาตา อาการเมื่อจะกระทำให้เกิดโทษนั้น ระดูไม่ได้มาตามปกติในรอบเดือน จึงเป็นพิษระคนด้วยลมอังคมังคานุสารีวาตา ก็พากันกำเริบขึ้น กระทำให้เตโชธาตุนั้นเป็นอธิกธาตุยิ่งขึ้น ตั้งเป็นก้อนเหนือสะดือทับกองลมอุทรวาตไม่ให้เดินเป็นปกติ

    2) มานโลหิต บังเกิดแต่ระดูมิได้มาตามปกติ ระคนด้วยลมชื่อว่า วาโยพิการ อาการเมื่อจะกระทำให้เกิดโทษนั้น ระดูไม่ได้มาตามปกติในรอบเดือน ครั้นนานเข้าก็กระทำให้เป็นพิษระคนด้วยลมอันชื่อว่าวาโยพิการ ก็พากันกำเริบฟุ้งซ่านไปทั้งอุทร จึงกระทำให้ท้องใหญ่ ร่างกายซูบผอม ไอ ร้อนๆ หนาวๆ หรือร้อนๆ หนาวๆ บางส่วนของร่างกาย บางทีมือบวม เท้าบวม หน้าตะโพกบวม ท้องขึ้นอืดเฟ้อ จุกแน่น

    3) มานโลหิต บังเกิดแต่กองโลหิตเป็นพิษ (โลหิตเน่า) ระคนด้วยระดูร้างโลหิต ระหว่างคลอดบุตร
โลหิตต้องพิฆาต ชอกช้ำ อาการเมื่อแรกจะบังเกิดขึ้น กระทำให้อาเจียนก่อน มีเหงื่อออกที่หน้ามาก อาเจีกระทำให้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำลายมีรสขม มืดหน้าตาลาย สวิงสวาย แล้วกระทำให้ฟกบวมขึ้นที่ตะโพก หัวเหน่า สะดือ ท้องน้อย แล้วจึงฟกบวมไปทั่วร่างกาย แน่นหน้าอก ท้องอืด หายใจไม่เต็มปอด นอนไม่หลับ อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้

    4) มานโลหิต บังเกิดแต่กองโลหิต คือ เมื่อโลหิตจาง
กระทำให้บวมไปทั่วร่างกาย วิงเวียน หน้ามืด ตามัว อาการ เมื่อจะกระทำโทษนั้น ให้วิงเวียน หน้ามืดตามัว จุกเสียดถึงเวลาบ่าย เมื่อทุเลาแล้วกลับเป็นอีก จนล่วงเข้าสามยามจึงกระทำให้ท้องนั้นใหญ่ มีอาการอืดจุกแน่น ครั้นรับประทานยาถ่ายก็ทำให้ท้องนั้นยุบลง ครั้นยุบลงแล้วก็กลับมีอาการเช่นเดิมอีก เป็นอยู่อย่างนี้หลายต่อหลายครั้ง ต่อไปให้มีอาการใหม่เกิดขึ้นอีก คือ กระทำให้บวมลงไปจนถึงหัวเข่า และเลื่อนขึ้นไปจนถึงใบหน้า เบื่ออาหาร หอบ หิวโหย เป็นกำลัง

5. มานเกิดแต่ดาน 2 ประการ มีลักษณะอาการ คือ

    1) มานทักขิณมาน
บังเกิดแต่ดานทักขิณคุณ ตั้งอยู่ฝ่ายขวา (ท้องด้านขวา)  อาการเมื่อจะเกิดขึ้น กระทำให้ร่างกาย มือ เท้าเย็นดุจน้ำแข็ง ให้แสยงขน ขนลุกชัน ท้องบวมจุกแน่นอยุู เป็นประจำ ปัสสาวะไม่สะดวก อุจจาระปวดถ่วงคล้ายเป็นบิด แน่นหน้าอกเป็นส่วนมาก อาการนี้ จะบวมแต่ปลายเท้าขึ้นก่อน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกแน่นท้อง นอนไม่หลับ ต่อเมื่ออาเจียน หรืออุจจาระออกมา จึงค่อยทุเลาลงบ้าง ให้ท้องข้างขวาแข็งเป็นดาน

    2) มานอุตรามาน
บังเกิดแต่ดานกองอุตราคุณ ตั้งอยู่ฝ่ายซ้าย (ท้องด้านซ้าย) อาการเมื่อจะบังเกิด กระทำให้เสียดราวข้างซ้ายตลอดสันหลัง วิงเวียนเป็นประจำ แน่นหน้าอก รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนแต่ลมเปล่า สวิงสวาย แสยงขนให้ขนลุกชัน ท้องด้านซ้ายนั้น บวมแข็งเป็นดานขึ้น
        ลักษณะอุตรามาน ก็เหมือนกับทักขิณมาน ต่างกันก็แต่อุตรามานตั้งอยู่ท้องด้านซ้าย ส่วนทักขิณมานตั้งอยู่ท้องด้านขวาเท่านั้น กระทำพิษเหมือนกันทุกประการ