คัมภีร์อติสาร
ในบทนี้กล่าวเกี่ยวกับสาเหตุ และการปฏิบัติตัวที่มีผลต่อการเกิดโรคฝี ลักษณะอาการของฝีที่จำแนกตามแหล่งที่เกิดฝี ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยแยกโรคฝีต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ ตามรายละเอียดของคัมภีร์ ดังนี้
คัมภีร์อติสาร ว่าด้วยลักษณะอติสาร 2 จำพวก คือ ปัจจุบันกรรมอติสาร และโบราณกรรมอติสาร
1. ปัจจุบันกรรมอติสาร มี 6 จำพวก
1) อุทรวาตอติสาร
2) สุนทรวาตอติสาร
3) ปัสสยาวาตอติสาร
4) โกฏฐาสยาวาตอติสาร
5) กุจฉิสยาวาตอติสาร
6) อุตราวาตอติสาร
2. โบราณกรรมอติสาร มี 5 จำพวก
1) อมุธาตุอติสาร
2) ปฉัณณธาตุอติสาร
3) รัตตธาตุอติสาร
4) มุศกายธาตุอติสาร
5) กาฬธาตุอติสาร
1. ลักษณะอติสารอันเป็นปัจจุบันกรรม มีดังนี้
1) อุทรวาตอติสาร
บังเกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) สะดือพอง โดยอำนาจผิงสะดือไม่ได้แต่ยังเยาว์ และลมกองนี้ติดตัวมาจนโต กระทำให้ท้องขึ้นไม่รู้วาย มักกลายเป็นกระษัย บางทีให้ลง ให้ปวดมวน ครั้นกินยาก็หายไป ครั้นถูกเย็นเข้าก็กลับเป็นมาอีก ให้ขบปวดท้องยิ่งนัก
ยาแก้อุทรวาตอติสาร
ส่วนประกอบ สะค้าน รากช้าพลู รากเจตมูลเพลิง ตรีกฏุก ผิวมะกรูด ใบคนทีสอ มหาหิงคุ์ เอาเสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผงทำแท่งไว้ ละลายน้ำร้อนรับประทาน
สรรพคุณ แก้อุทรวาตอติสาร
2) สุนทรวาตอติสาร
เกิดแต่กองอุทธังคมาวาตา พัดอยู่ในกระหม่อม เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา กระหม่อมเปิด ครั้นออกจากครรภ์มารดาแล้ว กระหม่อมก็ยังเปิด เมื่อได้ 3 เดือน กระหม่อมก็ยังไม่ปิด จึงบังเกิดโทษ คือ ลมอโธคมาวาตาหย่อน ลมอุทธังคมาวาตากำเริบพัดลงมา ทำให้ไส้พองท้องใหญ่ คือ ให้ลงกล่อนแล้วเป็นมูกเลือดปวดมวน ครั้นกินยาปิดก็ให้จุกขึ้นมา กินยาเปิดก็ให้ลงไป โรคดังนี้มักแปรเป็นมาน 5 ประการ คือ:-
(1) มานเลือด
(2) มานลม
(3) มานหิน
(4) มานน้ำเหลือง
(5) มานกระษัย
ยาแก้ชื่อยาเนาวทวาร
ส่วนประกอบ ลูกจันทน์ เทียนสัตตบุษย์ ดีปลี กะทือ ไพล หอม
ดินถนำ กระเทียม ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผง ใช้ดีสัตว์ละลายน้ำมะนาวเป็นกระสาย ทำเป็นแท่งไว้ แทรกพิมเสนละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำมะกรูดก็ได้ รับประทาน
สรรพคุณ แก้สุนทรวาตอติสาร
3) ปัสสยาวาตอติสาร
มีอาการบังเกิดแต่กองอชิน คือ สำแดงกระทำให้ลงไปดุจกินยารุ กินอาหารไม่ได้อยู่ท้อง ให้อาเจียนมีสีเขียว สีเหลือง สมมุติว่าป่วง 5
ประการ คือ ป่วงน้ำ ป่วงสุนัข ป่วงลม ป่วงหิน และป่วงวานร (ป่วงลิง)
ยาแก้ปัสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ หนังปลากระเบนเผา ผิวส้มโอ หนังแรดเผา ลูกมะคำดีควาย น้ำตาลกรวด ผิวไม้ไผ่ มะม่วงกะล่อนเผา
วิธีใช้ แทรกพิมเสน บดเป็นผงปั้นเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ แก้ปัสยาวาตอติสาร
4) โกฏฐาสยาวาตอติสาร
เกิดตามลำไส้ ลมจำพวกนี้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย ถ้าพัดไม่ได้ตลอดเมื่อใดย่อมให้ลงไป บริโภคสิ่งใดก็เป็นสิ่งนั้นออกมา สมมุติว่าไส้ตรง ลำกองนี้พัดอุจจาระปัสสาวะให้ลงสู่คูถทวาร คูถทวารก็เปิด ลมทวารหากรู้กันเอง ถ้าไม่รู้กันตราบใด อาการก็แปรไปต่างๆ
ยาแก้โกฏฐาสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ โกฐสอ โกฐเชียง โกฐกระดูก โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา
ลูกสมอเทศ ลูกสมอไทย พริกไทย ขิง ดีปลี กะทือ ไพล ว่านร่อนทอง ว่านนางคำ การบูร ลูกจันทน์ มหาหิงคุ์ ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผง ปั้นเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำดอกแคต้ม รับประทาน
สรรพคุณ แก้โกฏฐาสยาวาตอติสาร
5) กุจฉิสยาวาตอติสาร
ลมกองนี้เกิดอยู่นอกไส้ พัดแต่เพียงคอลงไปทวารหนักทวารเบา เมื่อจะให้โทษ ประมวลกันเข้าเป็นก้อนในท้องแต่อยู่นอกไส้ กระทำให้ลงท้องเหม็นคาว แต่ไม่ปวดมวน อยู่ๆ ก็ไหลออกมาเอง สมมุติว่าทวารเปิด
ยาแก้กุจฉิสยาวาตอติสาร
ส่วนประกอบ โกฐสอ โกฐเขมา เทียนดำ เทียนขาว ลูกจันทน์ กานพลู กำยานทั้งสอง ใช้ส่วนเสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำเป็นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ แก้กุจฉิสยาวาตอติสาร วิเศษนัก
6) อุตราวาตอติสาร
เกิดแต่กองวาโย 16 จำพวก เป็นสาธารณะทั่วไปทุกแห่ง (แจ้งในคัมภีร์ชวดาร) ถ้ามีลงแต่สิ่งเดียว ให้พึงรู้ว่าอาการยังกระทำอยู่ ถ้าลงไปแพทย์วางยาไม่ถูกกลายไปให้ปวดมวนเป็นมูกเลือด สมมุติว่าเป็นบิด
ยาแก้อุตราวาตอติสาร
ส่วนประกอบ จันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกฟักทอง ดอกบวบ เกสรบุนนาค เกสรสารภี สิ่งละ 1 ส่วน เกสรบัวหลวง 4 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอีอด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำดอกจันทน์แทรกกับพิเสนรับประทาน
สรรพคุณ แก้อุตราวาตอติสาร วิเศษนัก
ลักษณะอาการของโบราณกรรมอติสาร 5 อย่าง
1) อมุธาตุอติสาร
2) ปฉัณณธาตุอติสาร
3) รัตตธาตุอติสาร
4) มุศกายธาตุอติสาร
5) กาฬธาตุอติสาร
1) อมุธาตุอติสาร
ว่าในกองเตโชธาตุ อันชื่อว่า ปริณามัคคีหย่อน เผาอาหารไม่ย่อย ให้ผะอืดผะอมแดกขึ้นแดกลง ให้ลงนับเวลาไม่ได้ ครั้นสิ้นอาหารแล้ว ก็ให้ลงเป็นน้ำล้างเนื้อเหม็นคาว และให้กระหายน้ำ คอแห้ง อกแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง
ยาแก้ชื่อยาอมุธาตุอติสาร
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ มหาหิงคุ์ รากหญ้านาง แก่นสน แก่นสัก กรักขี แก่นประดู่ ดอกคำไทย ดอกงิ้ว ครั่ง สีเสียดทั้ง 2 เอาเสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ถ้าจะแก้ลงเลือด ละลายน้ำใบเสนียดต้ม รับประทาน
สรรพคุณ แก้อมุอติสาร หายแล
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ รากบัวหลวง รากมะกอก โกฐหัวบัว โกฐสอ จันทน์ทั้ง 2 เทียนดำ เกสรบัวหลวง เกสรสารภี เกสรบุนนาค กระดูกงูเหลือม เปลือกโลด ชะลูด รากสลอดน้ำ รากทองหลางหนาม ใบผักคราด ใบกระเพรา เมล็ดมะนาว เสมอภาค
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ละลายน้ำรากบัวรับประทาน
สรรพคุณ แก้กระหายน้ำ แก้อมุธาตุอติสาร ดีนักแล
2) ปฉัณณธาตุอติสาร
อาการกระทำให้ลงเป็นน้ำชานหมาก และน้ำแตงโม แล้วทำให้จุก ให้แดกเป็นกำลัง แน่นในลำคอ กินข้าวน้ำไม่ได้ ให้อาเจียนลมเปล่า
ยาแก้ปฉัณณธาตุอติสาร
ส่วนประกอบ ใบกรด ใบทับทิม ใบเทียนย่อม สิ่งละ 1 ส่วน ใบข่า 2
ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส รับประทาน
สรรพคุณ แก้ปฉัณณธาตุอติสาร หายดีแล
3) รัตตธาตุอติสาร
เกิดแต่กองปถวีธาตุ มีเกศาเป็นต้น มัตถเกมัตถลุงคังเป็นที่สุดอาการ และประเภท มักให้ลงประมาณไม่ได้ ให้อุจจาระแดงดังโลหิตเน่า และมีเสมหะระคน บางทีให้เขียวดังใบไม้
ยาแก้รัตตธาตุอติสาร
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ ลูกจันทน์เทศ ลูกเบญกานี กฤษณา จันทน์ทั้ง 2 กำยาน สีเสียดทั้ง 2 ชันตะเคียน พริกไทย ขิง กำมะถัน เสมอภาค วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำครั่งก็ได้ รับประทาน
สรรพคุณ แก้รัตตธาตุอติสาร และอติสารทั้งปวง วิเศษนัก
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 ลูกเร่ว กระวาน กานพลู สิ่งละ 1 ส่วน ฝาง เปลือกปะโลง แกแล เปลือกหว้า ขมิ้นอ้อย ลูกทับทิมอ่อน สิ่งละ 2 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำใบชาต้ม รับประทาน
สรรพคุณ แก้รัตตธาตุอติสาร หายแล
4) มุศกายธาตุอติสาร
เกิดแต่กองอาโปธาตุ มีปิตตังเป็นต้น มุตตังเป็นที่สุด ลักษณะอาการ คือ บริโภคอาหารสำแดงธาตุ ให้ลงเป็นโลหิตเสมหะเน่าเหม็น ดังกลิ่นซากศพ ให้กุจฉิสยาวาต และโกฏฐาสยาวาตระคนกัน ให้ท้องขึ้นปะทะหน้าอก ให้แน่น ให้อาเจียนลมเปล่า ให้เหม็นอาหาร จะลุกนั่งไม่ได้ให้หน้ามืดยิ่งนัก
ยาแก้มุศกายธาตุอติสาร
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ จันทน์หอม รากมะอึก สมอไทย ผลกระดอม บอระเพ็ด เสมอภาค
วิธีใช้ ต้ม 3 เอา 1 รับประทาน
สรรพคุณ แก้มุศกายธาตุอติสาร วิเศษนัก
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ จันทน์ทั้ง 2 กรุงเขมา กระพังโหม สมอไทย
เสมอภาค
วิธีใช้ ต้ม 3 เอา 1 แทรกขันทศกร รับประทาน
สรรพคุณ แก้มุศกายธาตุอติสาร ดีนักแล
5) กาฬธาตุอติสาร มี 5 อย่าง คือ
(1) กาฬพิพิธ
(2) กาฬพิพัธ
(3) กาฬมูตร
(4) กาฬสูตร
(5) กาฬสิงคลี
(1) กาฬพิพิธ
ขี้นภายในแต่ขั้วตับ ให้ลงไปเป็นเลือดสดกำหนดมันถูกยาก็ฟังยาไป 4 – 5 วัน อาการประเภทมันก็กลับกลายให้ลงไปเป็นเลือดสดเน่าหมดถ้วนก็ปวดมวนเพียงขาดใจ ตั้งแต่จะรากไปให้แน่นหน้าอุราร้อน สะอึกซ้อนเป็นชั้นๆ จะแก้กันก็ขัดสน สะอึกให้ก็เวียนวนแต่ลงร่ำกระหน่ำใน ครั้นแก้ที่ลงห่าง สะอึกดังเพียงขาดใจ ให้ร้อนทุรนไป กายก็ผุดเป็นแว่นวงเขียว แดง ไปทั่วกาย เมื่อจะตายก็กลับลงเป็นเลือดสด กำหนดปลงชีพนั้นในวันเดียว (เว้นตาย)
(2) กาฬพิพัธ
นั้นขึ้นในหัวใจให้ขุ่นมัว ขั้วตับก็ดุจเดียวกัน แต่อาการนั้นผิดกัน ลงดุจน้ำล้างเนื้อ เมื่อมันเน่า และเหม็นกลิ่น เหมือนซากศพที่ทรุดโทรมอยู่แรมคืน ให้หอบเป็นกำลัง สติยังไม่ยั่งยืน ผู้ใดจะได้คืนชีพนั้นอย่าสงกา (อย่าสงสัย)
(3) กาฬมูตร
มันผุดกินอยู่ในตับให้ลงมาเป็นแต่โลหิต อุจจาระเน่า และดำไปเป็นก้อน เป็นลิ่มๆ ดุจเป็นดังถ่านไฟ กินปอดให้หอบ ให้กระหายน้ำเป็นกำลัง กินม้ามให้จับหลับเนตร พิศก็ดูดังปีศาจอันจริงจัง เข้าสิงอยู่ในคน เท้าเย็น และมือเย็น นั่งก้มหน้าไม่เงยยลหน้าคน พิการพิกลให้พ่นบ่นพะพึมไป อย่าจะกระทำ กระสือซ้ำเข้าคุมใจ โทษนี้ใช่อื่นไกล กำเนิดโรคมารยา ครั้นเมื่อจะดับสูญก็เพิ่มพูนด้วยวาตา พัดแผ่นเสมหะมาเข้าจุกแน่นในลำคอ จึงตัดอัสสาสะให้ขาดค้างเพียงลำคอ หายใจสะอื้นต่อจะตายหนอแล้วควรจำ
(4) กาฬสูตร
นั้นให้ลง เพท (เวจ หรือถ่ายอุจจาระ) ที่ลงก็ดูดำดังครามอันเขียวคล้ำ ให้เหม็นกลิ่นดังดินปืน ให้ราก ให้อยากน้ำ จะยายำไม่ฝ่าฝืน กลืนยาก็ยาคืน สะท้านรากลำบากใจ เสโทอันซึมซ่าน พิการกายให้เย็นไป หยุดลงก็ขาดใจ อันโทษนั้นอย่าสงกา (อย่าสงสัย)
(5) กาฬสิงคลี
กาฬ และกาฬนั้นย่อมปรากฏเกิดแก่ดีมา ให้ซึมรั่วล้นไหลไป อุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งเนื้อเนตรก็เหลืองใส เหลืองสิ้นตลอดในกระดูกดังขมิ้นทา ให้ร้อนทุรน ราก กระหาย หอบ เป็นนักหนา เชื่อมมึน และกิริยา ให้พะเพ้อละเมอไป โทษนี้ใน 3 วัน จักอาสัญอย่าสงสัย เพท (เวจ หรือถ่ายอุจจาระ) เมื่อจะขาดใจ ทะลึ่ง (เหยียดตัวพุ่งขึ้น) ไปจนสิ้นชนม์ (ตาย)
ยาแก้กาฬธาตุอติสาร
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ จันทน์ทั้ง 2 ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง สังกรณี เนระพูสี ลูกเบญกานี ลูกจันทน์ เอาเสมอภาค ลูกตะบูนเท่ายาทั้งหลาย
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นเป็นแท่งละลายน้ำลูกพลับจีน รับประทาน
สรรพคุณ แก้กาฬธาตุอติสาร วิเศษนัก
(หลักฐานที่อ้างอิง ตำรายาศิลาจารึก วัดพระเชตุพนฯ)
ลักษณะอชินธาตุโรคอติสาร
ว่าด้วยลักษณะอาการลงเป็นเพื่อ (เพราะ) สำแดง 2 ประการ คือ
1) อชินธาตุ เป็นด้วยบริโภคอาหารอันไม่ควรแก่ธาตุ
2) อชินโรค เป็นด้วยบริโภคยาอันไม่ควรแก่โรค
ประเภทอชิน 4 ประการ
1) เสมหะอชิน
2) ปิตตะอชิน
3) วาตะอชิน
4) สันนิปาตะอชิน
1) เสมหะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุ มักกระทำให้ลงในเวลาเช้า มีอาการให้คอแห้ง อกแห้ง ให้สีอุจจาระขาว มีกลิ่นคาวระคนด้วยปะระเมหะ เป็นเปลว แล้วให้ปวดคูถทวารเป็นกำลัง ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 12 ราตรีไป ก็จะเข้าอมุธาตุอติสาร จัดเป็นปฐมอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในเสมหะอชิน
ยาแก้เสมหะอชิน
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ ตรีกฏุก แห้วหมู ผลมะตูมอ่อน ผลตะบูน ผลเบญกานี การบูร ยางตะเคียน น้ำประสานทอง สิ่งละ 1 ส่วน เขาควายเผือกเผา 2 ส่วน เจตมูลเพลิง 4 ส่วน สะค้าน 8 ส่วน รากช้าพลู 12 ส่วน
วิธีใช้ บดป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำมะแว้งแทรกพิมเสน
รับประทาน
สรรพคุณ แก้เสมหะอชิน หายแล
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ โกฐสอ โกฐกระดูก โกฐหัวบัว เทียนดำ จันทน์ทั้ง 2 ว่านร่อนทอง เนระพูสี ครั่ง ฝางเสน ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน สิ่งละ 1 ส่วน กานพลู 4 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ทำแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกกระท้อน แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้เสมหะอชิน และแก้อติสาร 11 จำพวก
2) ปิตตะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลากลางวัน มีอาการให้ร้อนในอก ให้สวิงสวาย ให้หิวโหยหาแรงไม่ได้ ให้ตัวร้อน ให้จับดุจไข้ราก สาด สันนิบาต ให้อุจจาระแดง ให้ร้อนตามลำซ่วงทวาร ขึ้นไปตลอดถึงทรวงอก มีกลิ่นดังปลาเน่า ให้ปากแห้ง คอแห้ง มักให้อาเจียน บริโภคอาหารไม่รู้รส ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 7 ราตรีไป จะเข้ารัตตธาตุอติสาร จัดเป็นทุติยะอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในปิตตะอชิน
ยาแก้ปิตตะอชิน
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ ผลจันทน์ ดอกจันทน์ คำฝอย กำยาน ผลพิลังกาสา ผลสารพัดพิษ เปลือกปะโลง แก่นขนุน ไพล กระชาย สิ่งละ 1 ส่วน เทียนดำ 2 ส่วน หมากดิบ 4 ส่วน กระเทียมกรอบ 17 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกสะเดาต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้ปิตตะอชิน หายแล
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ เปลือกสันพร้านางแอ เถามวกทั้ง 2 ว่านมหาเมฆ
ผลกระดอม น้ำประสานทอง ดีปลี สิ่งละ 1 ส่วน เปลือกมะเดื่อชุมพร 2 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำรากเทียนต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้ปิตตะอชิน หายแล
3) วาตะอชิน
บังเกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลาพลบค่ำ มีอาการให้ท้องขึ้น และแน่นหน้าอกคับใจ ให้คลื่นเหียนอาเจียนแต่ลม ให้เท้าเย็นมือเย็น บริโภคอาหารไม่ได้ คอแห้งมาก ให้อุจจาระอันคล้ำ มีกลิ่นอันเปรี้ยว เหม็นยิ่งนัก ถ้าแก้ไม่ฟังพ้นกำหนด 10 ราตรีไป ก็จะเข้าปฉัณณธาตุอติสาร จัดเป็นตติยะอติสารชวร
ยาแก้วาตะอชิน
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ รากคันทรง รากตานหม่อน รากพุมเลียงทั้ง 2
รากกระทุ่มขี้หมู เปลือกไม้แดง อบเชย สักขี ผลจันทน์ ตรีกฏุก
สิ่งละ 1 ส่วน ขมิ้นอ้อย สีเสียดทั้ง 2 สิ่งละ 2 ส่วน กานพลู 4 ส่วน กระเทียมกรอบ 6 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายยา อันควรแก่โรค รับประทาน
สรรพคุณ แก้วาตะอชิน หายแล
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ ผลยาง ไส้หมากดิบ ผลกระวาน ใบกระวาน จันทน์แดง ผลผักชีทั้ง 2 เมล็ดผักกาด รากมะกอก สิ่งละ 1 ส่วน ฝางเสน เปลือกมะขามขบ เปลือกผลทับทิมอ่อน สิ่งละ 1 ส่วน ตรีกฏุก 3 ส่วน ใบจันทน์หอม 4 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำใบเทียนต้ม แทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้วาตะอชิน หายแล
4) สันนิปาตะอชิน
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี อันไม่ควรแก่โรค และธาตุนั้น มักกระทำให้ลงในเวลากลางคืน มีอาการให้แน่นหน้าอก ให้หายใจสะอื้น ให้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้เท้าเย็นตัวร้อน ให้ลงไม่ สะดวก ให้สีอุจจาระ ดำ แดง ขาว เหลืองระคนกัน ถ้าแก้ไม่ถอยพ้น 29 วัน ก็จะเข้ามุศกายธาตุ อันระคนด้วยกาฬธาตุอติสารจะบังเกิด จัดเป็นจตุตถะอติสารชวร อันเนื่องอยู่ในปัญจมชวรนั้น ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในสันนิปาตะอชิน
ยาแก้สันนิปาตะอชิน
ขนานที่ 1
ส่วนประกอบ รากกล้วยตีบ รากยอทั้งสอง เปลือกโลด รากชิงชี่ เปล้าทั้งสอง โกฐทั้งห้า เทียนทั้งห้า จันทน์ทั้งสอง เบญจกูล สิ่งละ 1 ส่วน เปลือกฝิ่นต้น 19 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกกระทุ่มขี้หมู ต้มแทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้สันนิปาตะอชิน หายแล
ขนานที่ 2
ส่วนประกอบ โกฐทั้งห้า เทียนทั้งห้า ผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู แฝกหอม มะตูมอ่อน ผลผักชี เปลือกโมกมัน แก่นสน ฝางเสน กระเทียม ลำพันแดง พริกไทย ผิวมะกรูด เปลือกโลด ผลมะแว้งทั้งสอง เบญจกูล สิ่งละ 1 ส่วน ผลจันทน์เทศ 16 ส่วน
วิธีใช้ บดเป็นผงละเอียด ปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกขี้อ้ายต้มแทรกพิมเสน รับประทาน
สรรพคุณ แก้สันนิปาตะอชิน หายแล
ปักวาตะอติสาร ( พิเศษ )
บังเกิดแก่กองคูถเสมหะ กล่าวคือ วาโยพัดกำเริบไม่ให้เสมหะคุมกันเข้าได้ อุจจาระมีสีขาวดุจดังน้ำข้าวเช็ด เหม็นดุจซากศพอันเน่าโทรม ให้ลงไหลไปไม่ได้ว่างเวลา ให้บริโภคอาหารไม่ได้ ให้อาเจียนออกแต่เขฬะเหนียว ให้เนื้อเต้น ให้เกิดสะอึก ลักษณะดังกล่าวมานี้เป็นอสาทิยะอติสารโรค รักษายากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น